ตั้งเป็นหน้าแรกของคุณ | ADD TO FAVORITES

ม.เชียงใหม่ – มหาวิชชาลัยอุโมงค์สร้างพลเมือง พัฒนากระบวนการสร้างพลเมืองภาคประชาชน

  เมื่อ: วันเสาร์, กรกฎาคม 25th, 2015, หมวด การศึกษา, ข่าวประชาสัมพันธ์

 

11057973_875416245872213_8121333690347048166_o11705485_875417855872052_8524054482926140669_o

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จับมือ มหาวิชชาลัยอุโมงค์สร้างพลเมือง จังหวัดลำพูน พัฒนา “กระบวนการสร้างพลเมือง ภาคประชาชน ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของท้องถิ่นล้านนาและอาเซียน” ในตำบลอุโมงค์ และ 20 ตำบลเครือข่าย โดยนำผลสำเร็จจาก “พร้าวโมเดล” เป็นต้นแบบ สร้างนักวิจัยชุมชน พร้อมเสริมกลไกการแก้ปัญหาในท้องที่สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

รองศาสตราจารย์ ดร.อาวรณ์ โอภาสพัฒนกิจ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีกลไกสนับสนุนการวิจัย การบริการวิชาการ และการเรียนการสอน ที่สอดคล้องกับความถนัดของนักวิชาการ อยู่ 3 กลุ่ม คือ การวิจัยวิชาการ การวิจัยเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม และงานวิชาการรับใช้สังคม สำหรับการพัฒนาระบบบริหารจัดการวิชาการรับใช้สังคมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น มีกลยุทธ์ 2 ลักษณะ ได้แก่ การวิจัยและพัฒนาเชิงพื้นที่ (CMU Area-based Research and Development) และการวิจัยประเด็นเร่งด่วนบทเรียน (Issue-based Research)

ในการวิจัยและพัฒนาเชิงพื้นที่เป็นเรื่องสำคัญหนึ่งที่มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการมาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชุมชน โดยจะเห็นตัวอย่างได้อย่างเด่นชัดในพื้นที่อำเภอพร้าว ภายใต้โครงการ “พร้าวโมเดล” โดยเป็นโครงการที่มหาวิทยาลัยได้นำทีมนักวิจัย นักวิชาการ นักศึกษา ถ่ายทอดแนวคิดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่พื้นที่ชุมชนมากว่า 3 ปี ทำให้เห็นแนวทางการบริหารจัดการวิชาการรับใช้สังคมที่เป็นระบบ ทั้งการจัดการต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จนเกิด Output , Outcome และ Impact ที่เป็นรูปธรรม สามารถสร้างนักวิจัยชุมชนและสร้างกลไกการแก้ปัญหาในชุมชนที่ต่อเนื่องและเกิดการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

คณะทำงานฯ โครงการจัดตั้งหน่วยสนับสนุนวิชาการรับใช้สังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้นำผลสำเร็จของพร้าวโมเดลมาเป็นต้นแบบปรับใช้บทเรียนดังกล่าวสร้างความร่วมมือกับมหาวิชชาลัยอุโมงค์สร้างพลเมือง จังหวัดลำพูน พัฒนาชุดโครงการวิจัย เรื่อง “กระบวนการสร้างพลเมืองภาคประชาชน ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของท้องถิ่นล้านนาและอาเซียน” โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จำนวน 8,000,000 บาท เป็นเวลา 2 ปี โดยมีระยะเวลาตั้งแต่ วันที่ 1 สิงหาคม 2558 – วันที่ 31 กรกฎาคม 2560 ซึ่งได้มีพิธีลงนามความร่วมมือ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเทศบาลอุโมงค์ ตำบลอุโมงค์ จังหวัดลำพูน

ชุดโครงการวิจัยฯ นี้มีเป้าหมายเพื่อพัฒนากระบวนการและเครื่องมือสร้างพลเมืองภาคประชาชนท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของท้องถิ่นล้านนาและอาเซียนของตำบลอุโมงค์และ 20 ตำบลเครือข่าย นอกจากนี้ยังเป็นการวิเคราะห์เงื่อนไขที่เอื้อ และเป็นอุปสรรคต่อการสร้างพลเมืองภาคประชาชน วิเคราะห์ลักษณะพลเมืองของตำบลอุโมงค์และตำบลเครือข่าย วิเคราะห์บทบาทและศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในการสร้างพลเมือง ตลอดจนพัฒนากระบวนการทำให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงบทบาทและพัฒนาศักยภาพของตนเอง เพื่อให้เกิดการกระบวนการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ชุดโครงการวิจัย “กระบวนการสร้างพลเมืองภาคประชาชน ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของท้องถิ่นล้านนาและอาเซียน” จึงนับว่าเป็นอีกหนึ่ง “ข่วงสร้างความรู้” ที่นักวิชาการและนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะได้สานต่อนโยบายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “รวมพลังเพื่อแผ่นดิน” อีกครั้ง

 

แท็ก คำค้นหา