ตั้งเป็นหน้าแรกของคุณ | ADD TO FAVORITES

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งมอบเครื่องม้วนอัดก้อนชีวมวลมัดเชือกอัตโนมัติ ให้แก่ทางตำบลท่าผา

  เมื่อ: วันอังคาร, มิถุนายน 20th, 2017, หมวด การเมือง, ข่าวทั่วไป, ข่าวประชาสัมพันธ์, สังคม

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งมอบเครื่องม้วนอัดก้อนชีวมวลมัดเชือกอัตโนมัติ ให้แก่ทางตำบลท่าผา อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อช่วยลดปัญหาความรุนแรงจากการให้แก่ประชาชนในพื้นที่

S__10764304 S__10764366

เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 60 ที่ ศูนย์เรียนรู้การบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ตำบลท่าผา อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ นายอรรถชา กัมปนาทแสนยากร นายอำเภอแม่แจ่ม เป็นประธานพิธีมอบเครื่องม้วนอัดก้อนชีวมวลมัดเชือกอัตโนมัติ   เพื่อจัดการเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งของพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย คือ การเกิดหมอกควันปกคลุมในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคมของทุกปี  โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนบน สาเหตุที่สำคัญเกิดจากไฟป่า และการเผาเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกในช่วงฤดูฝน ทำให้เกิดการสะสมของมลพิษจากหมอกควันในชั้นบรรยากาศสูงเกินค่ามาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่อย่างมากมาย   ไม่ว่าจะเป็นด้านการท่องเที่ยว สังคม เศรษฐกิจ โดยเฉพาะสุขภาพของประชาชน ที่ผ่านมาหลายภาคส่วนได้ทำงานแบบบูรณาการร่วมกันเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือให้หมดไปอย่างยั่งยืน

ทางด้าน นางวนิดา บุญนาคค้า ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ผลักดันนโยบายในการขับเคลื่อนงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  เมื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด รวมถึงการนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยป้องกัน แก้ไข หรือบรรเทาปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น ทั้งในระดับชุมชน ท้องถิ่น จังหวัด ภูมิภาค หรือประเทศ โดยผ่านกลไกที่สำคัญอย่างหนึ่งในระดับภูมิภาค คือศูนย์ประสานงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำภูมิภาค

สำหรับพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่  อำเภอแม่แจ่ม เป็นพื้นที่ที่เกิดความรุนแรงของปัญหานี้มากที่สุด มีความต้องการเครื่องจักรที่สามารถทำงานทดแทนแรงงานคนได้อย่างรวดเร็ว มาช่วยบริหารจัดการกำจัดวัสดุเศษเหลือทิ้งทางการเกษตรเพื่อช่วยลดความรุนแรงของปัญหาจากการเผาทำลายทิ้ง สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างรายได้แก่เกษตรกรในพื้นที่เพิ่มขึ้น

โดยเมื่อปี พ.ศ.2558 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้วิจัยพัฒนา “เครื่องม้วนเก็บใบอ้อย ต่อพ่วงรถแทร็กเตอร์” แต่ในพื้นที่ตำบลท่าผามีความลาดชันสูง รถแทร็กเตอร์เข้าถึงได้ยาก ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้ร่วมกับ นายสุพจน์ ริจาม นายกเทศมนตรีท่าผา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ดำเนินการพัฒนาสร้างเครื่องม้วนอัดก้อนชีวมวลมัดเชือกอัตโนมัติ ที่สามารถทำงานได้แบบอยู่กับที่และเคลื่อนไหวได้ เพื่อช่วยรวบรวมวัสดุเศษเหลือทิ้ง ได้แก่ ต้น ตอ ใบ เปลือก และซัง จากไร่ข้าวโพด ซึ่งมีปริมาณการเพาะปลูกในพื้นที่อยู่เป็นจำนวนมาก โดยเครื่องนี้สามารถอัดฟ่อนได้ถึง 60 ก้อน /ชั่วโมง สำหรับนำไปผลิตเป็นอาหารสัตว์ ทำปุ๋ย หรือทำเป็นเชื้อเพลิงพลังงานต่อไป

แท็ก คำค้นหา