ตั้งเป็นหน้าแรกของคุณ | ADD TO FAVORITES

ลูกช้าง มช. ร่วมใจต่อชีวิต บริจาคโลหิตเพื่อแม่

  เมื่อ: วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 30th, 2015, หมวด ข่าวประชาสัมพันธ์

บริจาคโลหิต ok

 

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขอเชิญร่วมบริจาคโลหิต ในโครงการ “ลูกช้าง มช. ร่วมใจต่อชีวิต บริจาคโลหิตเพื่อแม่” ถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในโอกาสมหามงคลที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงมีพระชนมายุครบ 83 พรรษา เริ่ม 10 สิงหาคม 2558 ถึง 10 สิงหาคม 2559

เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 83 พรรษา ในวันที่ 12 สิงหาคม 2558 ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงได้จัดโครงการ “ลูกช้าง มช. ร่วมใจต่อชีวิต บริจาคโลหิตเพื่อแม่” ถวายเป็นราชสดุดีและถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ ให้ทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์ แข็งแรง โดยเป็นโครงการที่จะรับบริจาคโลหิตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสิ้น 27 ครั้ง เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2558 ไปถึงเดือนสิงหาคม 2559

“ลูกช้าง มช. ร่วมใจต่อชีวิต บริจาคโลหิตเพื่อแม่” จะจัดพิธีเปิดตัวโครงการฯ และรับบริจาคโลหิตครั้งแรก ในวันที่ 10 สิงหาคม 2558 เวลา 13.00 – 15.30 น. ณ ห้องประชุมพระยาศรีวิสารวาจา สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขอเชิญนักศึกษา บุคลากร และผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคโลหิตในวันดังกล่าว

สำหรับการรับบริจาคโลหิต ครั้งที่ 2 – ครั้งที่ 27 จะเปิดรับบริจาคโลหิตตลอดทั้งปี ไปจนถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2559 โดยตั้งเป้าหมายว่าโลหิตที่ได้รับจากการบริจาคทั้งหมดโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่จะได้นำไปช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้เลือดในการรักษาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 1 ปี

การร่วมบริจาคโลหิตครั้งนี้ เป็นโอกาสสำคัญที่นักศึกษาและบุคลากร ตลอดจนผู้สนใจจะได้ร่วมแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสวันแม่แห่งชาติ นอกจากนี้ยังถือเป็นการสนับสนุนบทบาทของมหาวิทยาลัยในการให้บริการตามความต้องการของชุมชนและท้องถิ่น อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้นักศึกษาได้เรียนรู้และเข้าใจถึงความสำคัญของการให้ การเสียสละ และรับใช้สังคม (Social Engagement) นำไปสู่การสร้างอัตลักษณ์ของนักศึกษามหาวิยาลัยเชียงใหม่ด้านจิตอาสาต่อไป

คุณสมบัติผู้บริจาคโลหิต

– มีน้ำหนัก 45 กิโลกรัมขึ้นไป

– อายุระหว่าง 17 ปี ถึง 60 ปีบริบูรณ์ (ถ้าเป็นผู้บริจาคครั้งแรกต้องอายุไม่เกิน 55 ปี)

– มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว ไม่อยู่ระหว่างไม่สบายหรือรับประทานยาใดๆ

– ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ หรือติดยาเสพติด

– สตรีไม่อยู่ในระหว่างมีประจำเดือน ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร และไม่มีการคลอดบุตรหรือแท้งบุตรภายใน  6เดือนที่ผ่านมา

การเตรียมตัวก่อนบริจาคโลหิต

-นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6 ชั่วโมง ในเวลานอนปกติของตนเอง ในคืนก่อนวันที่จะมาบริจาคโลหิต

-รับประทานอาหารมื้อหลักก่อนมาบริจาคโลหิต หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ อาหารที่ประกอบด้วยกะทิ แกงต่างๆ ของทอด ของหวาน ฯลฯ

เนื่องจากจะทำให้สีของพลาสมาผิดปกติเป็นสีขาวขุ่น ไม่สามารถนำไปใช้ได้

-ดื่มน้ำ 3-4 แก้ว และเครื่องดื่มเหลวเพิ่ม เช่น น้ำผลไม้ นม น้ำหวาน เพื่อเพิ่มปริมาณโลหิตในร่างกาย จะช่วยป้องกันอาการแทรกซ้อน เช่น มึนงง อ่อนเพลีย หรือวิงเวียนศีรษะภายหลังบริจาคโลหิต

-งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ก่อนมาบริจาคโลหิตอย่างน้อย 24 ชั่วโมง

-งดสูบบุหรี่ก่อนและหลังบริจาคโลหิต 1 ชั่วโมง เพื่อให้ปอดฟอกโลหิตได้ดี

ขณะบริจาคโลหิต

-สวมใส่เสื้อผ้าที่แขนเสื้อไม่คับเกินไป สามารถดึงขึ้นเหนือข้อศอกได้อย่างน้อย 3 นิ้ว

-เลือกแขนข้างที่เส้นโลหิตดำใหญ่ชัดเจน ที่สามารถให้โลหิตไหลลงถุงได้ดี ผิวหนังบริเวณที่จะให้เจาะ ไม่มีผื่นคัน หรือรอยเขียวช้ำ ถ้าแพ้ยาทาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทราบล่วงหน้า

-ทำตัวตามสบาย อย่ากลัว หรือวิตกกังวล

-ไม่ควรเคี้ยวหมากฝรั่ง หรืออมลูกอมขณะบริจาคโลหิต

-ขณะบริจาคควรบีบลูกยางอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้โลหิตไหลได้สะดวก หากมีอาการ ผิดปกติ เช่น ใจสั่น วิงเวียน มีอาการคล้ายจะเป็นลม อาการชา อาการเจ็บที่ผิดปกติ

ต้องรีบแจ้งให้พยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ในบริเวณนั้นทราบทันที

-หลังบริจาคโลหิตเสร็จเรียบร้อยนอนพักบนเตียงสักครู่ ห้ามลุกจากเตียงทันที อาจทำให้เวียนศีษะเป็นลมได้ ให้นอนพักสักครู่จนกระทั่งรู้สึกสบายดี จึงลุกไปดื่มน้ำ และรับประทานอาหารว่างที่จัดไว้รับรอง

หลังบริจาคโลหิต

-ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีบริการให้ ดื่มน้ำมากกว่าปกติ เป็นเวลา 1 วัน

-หลีกเลี่ยงการทำซาวน่า หรือออกกำลังกายที่ต้องเสียเหงื่อมากๆ งดใช้กำลังแขนข้างที่เจาะ รวมถึงการหิ้วของหนักๆ เป็นเวลา 12 ชั่วโมง ภายหลังการบริจาคโลหิต เพื่อป้องกันการบวมช้ำ

-ไม่ควรรีบร้อนกลับ ควรนั่งพักจนแน่ใจว่าเป็นปกติ หากมีอาการเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม หรือรู้สึกผิดปกติ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทราบทันที

-ถ้ามีโลหิตซึมออกมาจากรอยผ้าปิดแผล อย่าตกใจ ให้ใช้นิ้วมืออีกด้านหนึ่งกดลงบนผ้าก๊อสกดให้แน่นและยกแขนสูงไว้ประมาณ 3-5 นาที หากยังไม่หยุดซึมให้กลับมายังสถานที่บริจาคโลหิตเพื่อพบแพทย์หรือพยาบาล

-ผู้บริจาคโลหิตที่ทำงานปีนป่ายที่สูง หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล ควรหยุดพัก 1 วัน

-รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง และรับประทานยาธาตุเหล็กที่ได้รับวันละ 1 เม็ด จนหมด เพื่อป้องกันการขาดธาตุเหล็ก

แท็ก คำค้นหา