สกศ. เดินสายขึ้นเหนือรุกประชารัฐ วางคานงัดการศึกษาเชื่อมปฏิรูปกม.

ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้จัดสัมมนาระดมความคิดเรื่องการเสริมสร้างความรู้ด้านกฎหมายการศึกษาและจัดทำข้อเสนอเพื่อปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการศึกษาชาติให้สอดคล้องการปฏิรูปการศึกษา ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตามแนวทางประชารัฐของรัฐบาล เพื่อให้สามารถเข้าถึงความต้องการที่แท้จริงของหน่วยงานด้านการศึกษาต่าง ๆ ในการปรับใช้นโยบายและแผนการศึกษาบนพื้นฐานของทฤษฎีและงานวิจัย เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนร่วมเป็นเครือข่ายให้ความคิดเห็น ชี้ทิศทาง และเสนอสาระสำคัญกฎหมายการศึกษาเพื่อเป็นคานงัดของระบบการศึกษา
เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคเหนือได้แสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์มากมาย เช่น กฎหมายการศึกษาควรเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ และต้องมีการบังคับใช้กฎหมายการศึกษาอย่างจริงจัง มีการประเมินผลการบังคับใช้เพื่อนำไปแก้ไขปรับปรุงกฎหมายการศึกษาให้ทันสมัยตลอดเวลา ไม่ควรให้กฎหมายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการศึกษาชาติ รวมถึงการจัดทำกฎหมายการศึกษาต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน ควรกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศให้สอดรับกับการผลิตกำลังคนที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งทาง สกศ. จะได้รวบรวมแนวคิดและข้อเสนอแนะสำคัญดังกล่าวนำไปสู่การจัดทำพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และแผนการศึกษาแห่งชาติ ระยะ ๑๕ ปี (พ.ศ.๒๕๖๐-๒๕๗๔) ที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาล และยังเตรียมจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาฉบับที่ ๑๒ ระยะ ๕ ปี (พ.ศ.๒๕๖๐-๒๕๖๔) โดยสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ ต่อไป
ด้าน นายณรงค์ คองประเสริฐ อดีตประธานสภาหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ควรเร่งแก้ไขกระบวนการผลิตบุคลากรด้านการศึกษาที่ยังขาดประสิทธิภาพ ครูยังมีภาระหนี้สินมาก เพื่อเพิ่มสมรรถนะทางการแข่งขันและตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน อีกทั้งควรนำหลักคุณธรรมบรรจุในหลักสูตรการศึกษา เช่น รู้รักสามัคคี ซื่อสัตย์ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีการศึกษาค้นคว้าอย่างต่อเนื่อง สร้างนวัตกรรม แก้ปัญหาได้อย่างไม่ย่อท้อ และสามารถทำงานเป็นทีมได้ มีความสามารถทางด้านภาษาและเทคโนโลยี เพื่อเตรียมความพร้อมบุคลากรเข้าสู่ตลาดเศรษฐกิจโลกที่ไร้พรมแดน
นายโกวิท คูพะเนียด สำนักนิติการ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เสนอแนวคิดว่า การปรับปรุงร่างกฎหมายการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ ควรเริ่มพิจารณาจากเจตนารมณ์ของการศึกษาที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โดยกำหนดจุดเน้น ๕ ด้าน ได้แก่ ๑) การปฏิรูปการเรียนรู้ ๒) การพัฒนาวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง ๓) ระบบประกันคุณภาพการศึกษา ๔) การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาเป็นกลไกช่วยส่งเสริมการเรียนรู้และสร้างนวัตกรรมด้านการศึกษา และ ๕) ด้านการกระจายอำนาจทางการศึกษา ซึ่งต้องการความมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและการปรับบทบาทภาครัฐมาเป็นผู้สนับสนุนการศึกษาเป็นสำคัญ