เสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59

11 พฤษจิกายน 2558 เวลา 10.00 น. ณ ห้องเธียร์เตอร์ อาคาร SMEs ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา นางนิยดา หมื่นอนันต์ พาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ปลูกข้าว 313,918 ตัน จากการการทำข้อมูลเอกภาพของสำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในปี 2557 มีพื้นที่ปลูก จำนวน 456,116 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.59 ผลผลิต 282,592 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.09 ผลผลิตเฉลี่ย 664 กก./ไร่
สถานการณ์การปลูกข้าวนาปี ในปี 2558 เกษตรกรจะทำการเพาะปลูกในปลายเดือนกรกฎาคมถึงปลายเดือนกันยายน 2558 เนื่องจากเกษตรกรรอให้มีปริมาณน้ำเพียงพอในการเพาะปลูก ซึ่งมีบางอำเภอที่เกษตรกรจะทำการเพาะปลูกในช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม และเกษตรกรมีความประสงค์จะใช้พื้นที่ในการปลูกหอมหัวใหญ่ เช่น อำเภอแม่วาง อำเภอสันป่าตอง อำเภอฝาง
สถานการณ์ราคาข้าวของจังหวัดเชียงใหม่ ดังนี้ ข้าวเหนียวเกี่ยวสด(ความชื้นไม่เกิน 30%) ราคา 9,900-11,000 บาท/ตัน ข้าวเหนียวความชื้น 14.5% ราคา 13,000-13,500 บาท/ตัน และข้าวหอมมะลิแห้ง(ปี 2557-58) ราคา 14,000-14,500 บาท ในปีนี้ราคาข้าวเหนียวสูงกว่าปีก่อนอยู่ตันละ 4,300 บาท เนื่องจากสภาวะการค้ามีความคล่องตัว เกิดการแข่งขันการรับซื้อข้าวเปลือกค่อนข้างสูง ทำให้ราคาข้าวเปลือกปรับเพิ่มสูงขึ้น
สถานการณ์ส่งออกข้าว ในปี 2558 กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดเป้าหมายการส่งออกข้าวปริมาณ 10 ล้านตัน มูลค่า 5,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2558 ไทยส่งออกข้าวประมาณ 6.61 ล้านตัน มูลค่า 3,228 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (106,785 ล้านบาท) ราคาส่งออกเฉลี่ยตันละ 488 ล้านเหรัยญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปริมาณและมูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 12.57 และ 14.22 และราคาส่งออกเฉลี่ยลดลงร้อยละ 2.01 ตามลำดับ และในช่วงเดือนกันยายน 2558 ตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของไทยส่วนใหญ่เป็นตลาดภูมิภาคแอฟริกา โดยมีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 50.38 ของปริมาณการส่งออกข้าวไทยทั้งหมด รองลงมาได้แก่ ตลาดภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกกลาง และอเมริกา ร้อยละ 31.16 ร้อยละ 6.51 และร้อยละ 6.35 ตามลำดับ
ในปีนี้ ประเทศไทยมีแนวโน้มจะส่่งออกข้าวไปยังตลาดภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้น เนื่องจากปรากฎการณ์เอลนิโญ่ได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตข้าวในหลายประเทศ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ที่มีผลผลิตข้าวลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่แถบชายฝั่งทางภาคเหนือของประเทศ และคาดการณ์ว่าจะเกิดภาวะแห้งแล้งในอนาคต มีผลให้ NFA อาจจะอนุมัติการนำเข้าข้าวเพิ่มเติม 250,000-500,000 ตัน รวมทั้ง อินโดนีเซีย ได้ประสบภาวะแห้งแล้ง เนื่องจากฤดูฝนมาล่าช้า จึงทำให้รัฐบาลต้องนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นข่าวดีสำหรับเกษตรกรไทย