กรมชลประทานพาสื่อมวลชน ดูโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ตายละ พื้นที่ ต.โหล่งขอด อ.พร้าว เชียงใหม่


กรมชลประทาน นำสื่อมวลชนชมพื้นที่โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ตายละ อ.พร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนเปิดประชุมชาวบ้านตำบลโหล่งขอดและตำบลแม่ปั่งปัจฉิมนิเทศโครงการครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 63 กรมชลประทาน เดินหน้าโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตายละ หวังช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ในพื้นที่ 7 หมู่บ้าน ของตำบลโหล่งขอด อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ โดยนายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้มอบให้ ดร.สุดชาย พรมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ ได้นำสื่อมวลชนกรุงเทพ และเชียงใหม่ ลงดูพื้นที่ก่อสร้างโครงการ มีพระครูวรรณวิวัฒน์ ดร.เจ้าคณะตำบลโหล่งขอด นายวิสุทธิ์ จงบุรี ปลัดอาวุโสอำเภอพร้าว นายยงยุทธ ศรีอ่อน ตัวแทนชาวบ้าน และนายก อบต.โหล่งขอด ให้การต้อนรับและพาสื่อมวลชนดูพื้นที่โครงการก่อสร้างตรงจุดกลางก่อสร้างสันเขื่อนแม่น้ำตายละ
ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ เปิดเผยว่าเป็นโครงการที่ราษฎรในพื้นที่ ต.โหล่งขอด อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ได้เสนอขอมายังกรมชลประทาน ผ่านทางอำเภอพร้าว เมื่อปี 2542 เนื่องจากประสบกับปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณที่อยู่อาศัยและพื้นที่การเกษตรในช่วงฤดูฝน และในช่วงฤดูแล้งยังประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปีนี้ที่เกิดฝนทิ้งช่วง ทำให้มะม่วงน้ำดอกไม้ซึ่งปลูกกันมากในพื้นที่ตำบลโหล่งขอดได้รับความเสียหาย มีราคาตกต่ำ ประกอบสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ราษฎรได้รับความเดือดร้อนค่อนข้างมาก
สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตายละ มีลักษณะเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ตั้งอยู่ในพื้นที่ ม.6 บ.หลวง ต.โหล่งขอด อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ เก็บกักน้ำได้ประมาณ 20.19 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อสร้างเสร็จจะสามารถเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับการเกษตร อุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศท้ายน้ำ และยังสามารถช่วยบรรเทาเรื่อง น้ำหลากได้อีกด้วย โดยมีพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 8,200 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 7 หมู่บ้านของตำบลโหล่งขอด เดิมเกษตรกรในพื้นที่ทำการเกษตรโดยใช้จากฝายทั้ง 5 แห่ง ปลูกพืชได้เฉพาะในช่วงฤดูฝน มีพื้นที่ประมาณ 3,000 ไร่ ส่วนในฤดูแล้งเฉพาะที่อยู่ริมน้ำจึงจะทำการเกษตรได้ ในอนาคตเมื่อมีโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตายละแล้วก็จะสามารถทำการเกษตรได้ตลอดปีทั้งฤดูฝนและฤดูแล้ง ส่วนบริเวณพื้นที่ดอนซึ่งปลูกพวกไม้ผล ก็จะสามารถรับน้ำผ่านระบบท่อได้อีกด้วย กรมชลประทานวางแผนการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตายละไว้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เนื่องจากว่า พื้นที่อ่างเก็บน้ำอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 ประมาณ 196 ไร่ จึงต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา และต้องขอผ่อนผันการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 จากคณะรัฐมนตรี นอกจากพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 แล้ว โครงการนี้ยังอยู่พื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีลานนาและป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่งัดอีกด้วย
ซึ่งในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาโครงการ เสนอมาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแผนติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมไว้แล้ว เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการทั้งเรื่องของการชดเชยเยียวยาและการส่งเสริมพัฒนาอาชีพ ในด้านทรัพยากรธรรมชาติก็จะมีการปลูกป่าทดแทนพื้นที่ที่สูญเสียไป การฟื้นฟูระบบนิเวศ การช่วยเหลืออพยพสัตว์ป่า นอกจากนี้ยังมีการอบรมให้ความรู้เรื่องของการส่งเสริมการเกษตร และที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ เรื่องของสุขภาพประชาชน

ในวันที่ 10 มิถุนายน 2563 นี้ มีการจัดการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำแม่ตายละ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ณ อาคารอเนกประสงค์ วัดบ้านหลวง ตำบลโหล่งขอด อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อนำเสนอข้อมูลรายละเอียดโครงการ ผลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาโครงการ ร่างมาตรการป้องกันและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ร่างแผนปฏิบัติการป้องกันและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานราชการ ผู้นำชุมชน ราษฎรที่ได้รับประโยชน์และได้รับผลกระทบ ได้รับทราบ รวมทั้งมีการเปิดโอกาสให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่อผลการศึกษา ซึ่งหลังจากนั้นก็ จะได้นำไปจัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์เสนอตามขั้นตอนต่อไป.