ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม ภาคที่ 1 ร่วมกับวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดประชุมสรุปผลการดำเนินงาน โครงการการยกระดับการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร สู่คลัสเตอร์ 4.0


เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2563 ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม ภาคที่ 1 จัดประชุมสรุปผลการดำเนินงาน กิจกรรมการยกระดับการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร สู่คลัสเตอร์ 4.0 ณ โรงแรมดิเอ็มเพรสพรีเมียร์ เชียงใหม่ โดย น.ส.นิรามัย ศิริศรีสุดากุล ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม ภาคที่ 1 เป็นประธานการจัดสรุปผลการดำเนินงานโครงการ “การยกระดับการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร สู่คลัสเตอร์ 4.0” โดยมีสมาชิกกลุ่มผู้ประกอบการด้านอุปกรณ์การแพย์ สมาชิกกลุ่มผู้ประกอบการด้านดิจิทัล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมรับฟังสรุปผลการดำเนินงาน และรับฟังนโยบายแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการแพทย์

-ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 ได้ดำเนินงานโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ จำนวน 2 โครงการควบคู่กัน โดยโครงการแรกเป็นการดำเนินงานร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นการพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ที่เป็นเครื่องมือแพทย์ โดยการนำงานวิจัยออกมาเป็นผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์ รวมไปถึงการพัฒนามาตรฐาน โดยโครงการที่สอง ซึ่งเป็นโครงการที่ได้จัดสรุปผลการดำเนินงานในวันนี้ เป็นโครงการการรวมกลุ่มผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมการแพทย์เพื่อสร้างความเข้มแข็ง ตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) โดยมีชื่อกลุ่มสมาชิก เรียกว่า “Northern Medical Device Cluster” ซึ่งดำเนินงานร่วมกับวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้กิจกรรมการยกระดับการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร สู่คลัสเตอร์ 4.0 ซึ่งได้ดำเนินการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ มาจนถึงเดือนกรกฎาคม ในปี พ.ศ. 2563 โดยมีผู้ประกอบการด้านเครื่องมือแพทย์เข้าร่วม จำนวน 20 กิจการ
-โดยทาง น.ส.นิรามัย ศิริศรีสุดากุล ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม ภาคที่ 1 กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่การดำเนินงานโครงการได้มีการร่วมมือจากวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนวัตกรรมดิจิทัล ที่ได้จัดกิจกรรมเพื่อยกระดับการรวมกลุ่ม และเชื่อมโยงอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร สู่คลัสเตอร์ 4.0 ซึ่งการดำเนินงานในปีนี้ ถือว่าเป็นปีแรกของการรวมกลุ่ม มีความคาดหวังให้มีโครงสร้างของกลุ่ม มีแผนปฏิบัติงาน หรือที่เรียกกันว่า คลัสเตอร์แม็พ ซึ่งจากการนำเสนอผลสรุปในวันนี้จะเห็นว่ามีรูปแบบโครงสร้างที่ชัดเจน แผนปฏิบัติงานของกลุ่มครบถ้วน ประกอบไปด้วยแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว อีกทั้งยังมีการเชื่อมโยงเครือข่ายและรวมตัวของกลุ่มผู้ประกอบการด้านอุปกรณ์การแพทย์และผู้ประกอบการด้านดิจิทัล ผนึกแรงกำลังรวมกันให้สามารถดำเนินธุรกิจเพื่อการแข่งขัน โดยมีการดำเนินโครงการนำร่องไปแล้วจำนวน 2 โครงการ ซึ่งผลสำเร็จเป็นไปด้วยดี เป็นที่พึงพอใจของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมคลัสเตอร์ อีกทั้งสมาชิกยังสามารถช่วยกันคิดค้นนวัตกรรมเพื่อสร้างอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ เพื่อเป็นต้นแบบในการช่วยเหลือในเรื่องของการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
-สำหรับอนาคตหลังจากนี้ สิ่งสำคัญที่จะสามารถผลักดันให้อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพในพื้นที่ภาคเหนือ สามารถขับเคลื่อนได้อย่างยั่งยืน ต้องมีการต่อยอดองค์ความรู้เชิงเทคโนโลยีและนวัตกรรม ผสมผสานประยุกต์ใช้งานวิจัย ให้เกิดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์มูลค่าเพิ่ม และสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ และยกระดับสู่อุตสาหกรรมอนาคตยุคใหม่ ตอบสนองความต้องการของตลาด สามารถแข่งขันได้ในเวทีระดับโลก ทั้งนี้ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 ยินดีที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพขับเคลื่อนไปได้ แต่เพื่อความสำเร็จอย่างยั่งยืนแล้ว ต้องมีการบูรณาการจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ รวมถึงตัวผู้ประกอบการ ที่จะต้องร่วมมือร่วมใจจับมือกันเดินหน้าเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ภาคเหนืออย่างจริงจัง