การสำรวจทุนนาซา พบ ‘ดาวเคราะห์น้อย’ ลอยใกล้โลกครั้งประวัติการณ์

(แฟ้มภาพซินหัว : ท้องฟ้ายามค่ำคืนที่ปรากฏแสงสีส้มจากเหตุไฟป่าในแคลิฟอร์เนีย บริเวณใกล้อ่าวฮาล์ฟมูนทางตอนใต้ของเมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ วันที่ 17 ส.ค. 2020)
วอชิงตัน, 19 ส.ค. (ซินหัว) — เมื่อวันอังคาร (18 ส.ค.) องค์การนาซา (NASA) ของสหรัฐฯ เปิดเผยว่าการสำรวจดาวเคราะห์น้อยด้วยเงินสนับสนุนจากนาซาได้ตรวจพบหินอวกาศขนาดเท่ารถยนต์เอสยูวีลอยผ่านโลกในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ดาวเคราะห์น้อยลอยเฉียดใกล้ที่สุดแต่ไม่ส่่งผลกระทบต่อโลกครั้งประวัติการณ์
ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีชื่อว่า 2020 คิวจี (2020 QG) ลอยผ่านโลกเหนือมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ราว 2,950 กิโลเมตร เมื่อ 00.08 น. ของวันอาทิตย์ (16 ส.ค.) ตามเวลามาตรฐานตะวันออก (EDT) ของสหรัฐฯ
นาซาระบุว่าดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับมาตรฐานดาวเคราะห์น้อยทั่วไป มีเส้นผ่านศูนย์กลางราว 3-6 เมตร โดยหากดาวเคราะห์น้อยมีเส้นโคจรพุ่งเข้าชนโลก คาดว่าจะสลายกลายเป็นลูกไฟระหว่างเดินทางผ่านชั้นบรรยากาศของโลก ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลายครั้งต่อปี
ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ถูกตรวจพบโดยอุปกรณ์ซีทีเอฟ (ZTF) ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์สำรวจท้องฟ้าที่ได้รับเงินสนับสนุนจากมูลนิธิวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและนาซา ตั้งอยู่ที่หอดูดาวพาโลมาร์ในเทศมณฑลซานดิเอโก
จักรวาลมีดาวเคราะห์น้อยดวงเล็กขนาดใกล้เคียงกับ 2020 คิวจี หลายร้อยล้านดวง แต่ค้นพบได้ยากยิ่งนอกจากจะลอยมาใกล้กับโลกมาก ดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกส่วนมากลอยผ่านโลกไปอย่างปลอดภัยในระยะที่ห่างกว่าครั้งนี้มาก โดยปกติจะลอยห่างจากโลกยิ่งกว่าระยะห่างระหว่างโลกและดวงจันทร์
“การที่เราเห็นดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กลอยมาใกล้โลกขนาดนี้เป็นเรื่องที่เจ๋งมาก เพราะเราเห็นแรงโน้มถ่วงของโลกส่งผลต่อเส้นโคจรของดาวเคราะห์น้อยอย่างชัดเจน” พอล โชดาส ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาวัตถุใกล้โลกประจำห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่นของนาซา ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนียกล่าว “การคำนวนของเราเผยว่าดาวเคราะห์น้อยหมุนราว 45 องศาระหว่างลอยผ่านโลกของเรา”