ตั้งเป็นหน้าแรกของคุณ | ADD TO FAVORITES

สำรวจท่องดินแดน 3 ด่าน (1)

  เมื่อ: วันอาทิตย์, กรกฎาคม 10th, 2016, หมวด อำนาจ...พูด

 

สำรวจท่องดินแดน 3 ด่าน (1)

จังหวัดเชียงใหม่ โดยท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ มอบหมายให้บริษัท T-MICE AGENCY นำสื่อมวลชนเชียงใหม่ และกรุงเทพฯ สำรวจเส้นทางในกิจกรรมการเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อรองรับประชาคมอาเซียน AEC กิ่วผาวอก-อำเภอเชียงดาว หลักแต่ง-อำเภอเวียงแหง และสันต้นดู่-อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 16-18 มิถุนายน 59 จุดแรกคือด่านคือจุดหลักแต่ง อ.เวียงแห่ง เดิมเป็นจุดผ่อนปรนการค้าการขายระหว่างชาวบ้านฝั่งไทย และฝั่งพม่า เป็นมาอย่างยาวนาน จนปี พศ.2545 เกิดการต่อสู้ระหว่างกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ กับทหารรัฐบาลพม่า บริเวณชายแดนด้านนี้อย่างรุนแรง มีตายบาดเจ็บทั้งสองฝ่าย ทำให้รัฐบาลพม่าสั่งปิดด่านตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เมื่อเหตุการณ์ชายแดนสงบลง ฝ่ายไทยได้พยามเจรจาขอเปิดด่านหลายครั้ง เพื่อให้ประชาชนทั้งสองฝ่ายได้ติดต่อค้าขายกันตามปกติ แต่ได้รับการปฏิเสธเรื่อยมา ล่าสุดเมื่อปี 2557 นายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้นำคณะไปเจรจาเชื่อมสัมพันธ์เป็นเมืองพี่เมืองน้องกับเมืองเชียงตุง ประเทศพม่า หนึ่งในข้อเจรจาคือขอเปิดด่าน 3 แห่งดังกล่าวก็ได้รับการปฏิเสธ และปี 2559 นายสุริยะ ประสาทประฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ คนใหม่ ได้นำคณะเชียงใหม่ เดินทางไปเมืองเชียงตุงเพื่อลงนามเป็นเมืองพี่เมืองน้องกับเมืองเชียงตุง สานงานต่อที่นายธานินทร์ทำไว้ ฝ่ายเชียงใหม่ ก็เจรจาขอเปิดด่านอีก แต่ก็ได้รับการปฏิเสธจากผู้ปกครองรัฐฉานเป็นครั้งที่หลายร้อยว่าเข้าไป โดยอ้างเรื่องของความมั่นคง ด่านที่เคยคึกคักในอดีต จึงเป็นด่านร้างต้นไมและวัชพืชขึ้นปกคลุม ทราบว่าตามผิวถนนมีการวางระเบิดไว้ หากเปิดได้จริงคงต้องใช้เวลาเคลียร์กอบกู้ระเบิดไออีกนาน

ขอย้อนกลับคณะสื่อมวลชนเชียงใหม่-กรุงเทพฯ เดินทางไปถึงอำเภอเวียงแหง ก็มุ่งหน้าไปที่ อบต.เวียงแหง ได้รับการต้อนรับจากท่านนายอำเภอเวียงแหง ผู้กำกับสถานีตำรวจเวียงแหง และนายอนุสรณ์ คำอ้าย นายก อบต.เปียงหลวง ได้นำชาวบ้านชนเผ่า 9 เผ่ามาต้อนรับอย่างอบอุ่น พร้อมกับการแสดงของชาวจีน ชาวไทใหญ่ และชาวปะหล่อง และเลี้ยงอาหารเที่ยงสุกี้ยูนนานน้ำตุ๋นไก่ดำยาจีนหม้อใหญ่ทานโต๊ะละ 10 คนใหม่หมด ปนกับอาหารไทยใหญ่ เช่นแกงฮังเล แกงมันอะลู หมูทอดทราย เป็นต้นนายก อบต.บอกว่าใครมาถึงเวียงแหงหากไม่ได้ทานสุกี้ยูนานถือว่ามาไม่ถึงเวียงแหง ทานแล้วอร่อยดีที่ต้องเอ่ยถึงคือน้ำจิ้ม รสชาติไม่ MK นี่เป็นคำพูดของป๋าจี ที่ขอกลับมาจิ้มที่บ้านแบ่งกับ เสี่ยกุ๋ย คนละครึ่ง พูดถึงนายก อบต.เปียงหลวง เล่าให้ฟังว่าตากับแม่เป็นชาวจีน สวนพ่อเป็นไทใหญ่ เลยรับวัฒนธรรมไทใหญ่มากกว่า แต่พูดได้ 3 ภาษาคือจีน ไทใหญ่ และไทย ถึงว่านายก อบต.แต่งกายชุดไทยใหญ่มาต้อนรับพวกเรา ตัวนายก อบต.เป็นนักอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้าน และให้ความสนใจศึกษาร่องรอยประวัติศาสตร์การเดินทัพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จึงนำพวกเราย้อนรอยประวัติศาสตร์หลังรับประทานอาหารกลางวัน จุดแรกที่ไปคือเยี่ยมชมวัดฟ้าเวียงอินทร์ วัดสองแผ่นดิน สถาปัตยกรรมแบบไทใหญ่ ที่นี่เป็นสถานที่บรรจุอัฐินายพลกอนเจิง ชนะศึก ผู้ก่อตั้งกองกำลังไทใหญ่กู้ชาติจากพม่า เป็นนักรบสู้ในสนามรบโซกโซนถูกกระสุนปืนทหารพม่าจนต่อเสียแขนซ้ายไป เป็นบุคคลที่ชาวไทใหญ่ให้ความเคารพนับถือมากคือเป็นวีระบุรุษ ขุนส่าอดีตราชายาเสพติดก็เคยเป็นแม่ทัพของนายพลกอนเจิง ก่อนเข้าสวามิภักดิ์รัฐบาลพม่า ปัจจุบัน พ.อ.เจ้ายอดศึกรับมรดกเป็นผู้นำกองกำลังไทใหญ่ในรัฐฉานแทนนายพลกอนเจิง บริเวณวัดยังเป็นที่ประดิษฐานอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระพี่นางกัลยา และพระเอกาทศรถ ว่ากันว่าเป็นสถานที่เดินแลยั้งทัพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตอนยกทัพบุกเมืองหางของพม่า และสันนิษฐานว่าได้นำพระบรมศพสมเด็จพระนเรศวรจากเมืองหางมาพักไว้ที่นี่ก่อนนำกลับพระนครศรีอยุธยา
ต่อจากนั้นได้ไปเยี่ยมชมหุ่นขี้ผึ้งนายพลกอนเจิง ชนะศึก ผู้นำไทยใหญ่ตั้งอยู่ไม่ไกลนักจากวัดฟ้าเวียงอินทร์ เป็นหุ่นขี้ผึ้งปั้นเท่าตัวจริงและเหมือนมากคล้ายคนที่มีชีวิตอยู่ ชาวไทใหญ่ และทหารก่อนออกรบ โดเฉพาะ พ.อ.เจ้ายอดศึก ผู้นำคนปัจจุบันมักจะมากราบไหว้บูชาสม่ำเสมอ ออกจากหุ่นขี้ผึ้งนายพลกอนเจิง เดินทางไปยังพลับพลา 400 ปี ที่ประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช บริเวณนี้เชื่อว่าเป็นที่ยั้งทัพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชด้วย ก่อนเดินทัพสู่เมืองหางประเทศพม่า เป็นสถานที่อีกแห่งหนึ่งที่คนไทยต้องไปสักการะ จากนั้นเดินทางไปวัดพระธาตุเวียงแหง(วัดกองมู) สถานที่เก็บพระมาลาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ค้นพบที่เมืองนะ อ.เชียงดาว หายไปหลายครั้ง แต่ก็ได้กลับคืนมา ผู้ที่นำไปครอบครองมักจะมีอันเป็นไป วัดกองมูมีกุฏิสร้างด้วยไม้สักทั้งหลังอายุกว่าร้อยปี ประดิษฐานพระเจ้าเหงือออกอายุกว่า 400 ปี ชาวบ้านตั้งชื่อพระเจ้าเหงือออกมาจากยามใดที่บ้านมีปัญหาหรือมีสงครามพระพุทธรูปองค์นี้เหงือจะไหลย้อยออกมา ก็ลืมถามปัจจุบันยังไหลอีกหรือเปล่า คือแสดงความเป็นห่วงบ้านเมือง ชาวบ้านจึงตั้งชื่อว่าพระเจ้าเหงือออก ไปเวียงแหงต้องแวะไปสักการะบูชาให้ได้ เกิดประเด็นร้อนขึ้นมาเมื่อ ฟ้า ข่าวสด รายงานข่าวออนไลน์ว่าฮือฮาพบพระมาลาพระนเรศวร ที่วัดพระธาตุเวียงแหง ทำเอานักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ออกมาดาหน้าโต้ว่ามาลาที่พบเป็นเพียงกู๊บละแอ หรือหมวกที่ใช้ใส่ในการแสดงพิธีกรรมต่างๆของชาวไทใหญ่ในอดีต มีอายุไม่เกิน 100 ปี ขณะที่พระนเรศวรผ่านไป 400 กว่าปีแล้ว แถมยังกล่าวว่าพระนเรศวรไม่ได้เดินทัพมาที่เวียงแหง เอาละสิ และยังล้อเล่นว่าหากจะเชื่อพระนเรศวรมาเวียงแหง น่าจะมาหาซื้อกระเทียมกับเห็ดถอบมากกว่า ล้อของกับของสูงเลย

อำเภอเวียงแหง เดิมเป็นตำบลเวียงแหง ขึ้นกับอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีความพยายามจัดการท่องเที่ยว เป็นเส้นทางประวัติศาสตร์สมัยเดินทัพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อนุสาวรีย์ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับพระองค์ท่านมากมาย ตั้งแต่ทุ่งยั้งทัพตั้งที่ ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม เชียงใหม่ถึง อ.เชียงดาว และ อ.เวียงแหง ก่อนเข้าสู่ประเทศพม่ามีมากมาย ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ คงต้องศึกษาต่อไปเพื่อให้เป็นรูปธรรมในการจัดเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนด้านกิ่วผาวอก หลักแต่ง และสันต้นดู่ ต่อไป (อ่านต่อฉบับหน้า)

แท็ก คำค้นหา