ตั้งเป็นหน้าแรกของคุณ | ADD TO FAVORITES

31 ม.ค. นี้ สดร. ชวนชาวไทยจับตา “จันทรุปราคาเต็มดวง” ครั้งแรกของปี

31 ม.ค. นี้ สดร. ชวนชาวไทยจับตา “จันทรุปราคาเต็มดวง” ครั้งแรกของปี

Banner PRจันทรุปราคา 31 ม.ค. 61

            สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผย 31 มกราคม เกิด “ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง” ในไทยเห็นได้ด้วยตาเปล่านานกว่าชั่วโมง ตั้งแต่เวลาประมาณ 19:51-21:07 น.สังเกตได้ทุกพื้นที่ของประเทศ ตั้งแต่หัวค่ำเป็นต้นไปทางทิศตะวันออก  ตั้งจุดสังเกตการณ์หลัก 4 จุด เชียงใหม่ โคราช ฉะเชิงเทรา สงขลา เชิญชวนผู้สนใจร่วมชมจันทร์สีแดงอิฐแบบเต็มตาผ่านกล้องโทรทรรศน์ พร้อมเครือข่ายโรงเรียนอีกกว่า 260 แห่งทั่วประเทศ หวังให้ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ ส่งเสริมบรรยากาศสังคมการเรียนรู้แบบวิทยาศาสตร์แก่คนไทย

ดร.ศรัณย์  โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า วันที่ 31 มกราคม 2561 จะเกิด  “ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง” นับเป็นจันทรุปราคาเต็มดวงครั้งแรกของปี 2561 พื้นที่ที่สามารถสังเกตเห็นปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ในครั้งนี้ ได้แก่ ทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปออสเตรเลีย ทวีปเอเชีย บริเวณตอนเหนือและตะวันออกของทวีปยุโรป ตอนเหนือและตะวันออกของทวีปแอฟริกา ตอนเหนือและตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งประเทศไทยสามารถมองเห็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาครั้งนี้ได้ด้วยตาเปล่า ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทางทิศตะวันออกในช่วงหัวค่ำ ตั้งแต่เวลาประมาณ 18:30 น. เป็นต้นไป

สำหรับปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงในวันที่ 31 มกราคม 2561 ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลกตั้งแต่เวลา 17:51 น. จากนั้นค่อย ๆ เคลื่อนเข้าสู่เงามืดของโลก เกิดเป็นจันทรุปราคาบางส่วนในเวลา 18:48 น. และเข้าสู่จันทรุปราคาเต็มดวงตั้งแต่เวลา 19:51-21:07 น. เกิดจันทรุปราคาเต็มดวงนาน 1 ชั่วโมง 16 นาที ช่วงเวลาดังกล่าวดวงจันทร์อยู่ในเงามืดของโลกเต็มดวง จะมองเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงอิฐทั้งดวง เมื่อสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงหลังเวลา 21:07 น. ไปแล้ว ดวงจันทร์จะเริ่มออกจากเงามืดของโลกกลายเป็นจันทรุปราคาบางส่วนอีกครั้ง จนกระทั่งออกจากเงามืดของโลกหมดทั้งดวงในเวลา 22:11 น. แล้วเปลี่ยนเป็นจันทรุปราคาเงามัวที่จะสังเกตเห็นได้ยาก เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงความสว่างของดวงจันทร์จากเงามัวของโลกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และสุดท้ายดวงจันทร์จะพ้นจากเงามัวของโลกเวลา 23:08 น. ถือว่าสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาในครั้งนี้โดยสมบูรณ์

ดร.ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2561 จะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงในประเทศไทยถึงสองครั้งด้วยกัน ในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของปี 2561 ซึ่งวันดังกล่าวยังตรงกับช่วงที่ดวงจันทร์โคจรอยู่ใกล้โลก จะมองเห็นดวงจันทร์มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย สำหรับปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงในไทยครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 27 กรกฏาคม 2561

ปรากฏการณ์จันทรุปราคา เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในแนวระนาบเดียวกัน โดยโลกอยู่ตรงกลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ ขณะที่ดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงามืดของโลก ผู้สังเกตบนโลกจะมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งไปทีละน้อยจนดวงจันทร์เข้าไปอยู่เงามืดทั้งดวง และเริ่มมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งอีกครั้งหนึ่งเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ออกจากเงามืดของโลก ช่วงที่ดวงจันทร์โคจรเข้าไปอยู่ในเงามืดของโลกบางส่วนจะเรียกว่า “จันทรุปราคาบางส่วน” และช่วงที่ดวงจันทร์โคจรเข้าไปอยู่ในเงามืดของโลกทั้งดวง เรียกว่า “จันทรุปราคาเต็มดวง” จะมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงเป็นสีแดงอิฐ เนื่องจากได้รับแสงสีแดงซึ่งเป็นคลื่นที่ยาวที่สุด  หักเหผ่านบรรยากาศโลกไปกระทบกับดวงจันทร์

 Info LunarEclipse

ภาพแสดงตำแหน่งของดวงจันทร์ระหว่างการเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเมื่อเทียบกับเงาโลก

ในวันที่ 31 มกราคม 2561

LunarEclipse 31 Jan 18

ตารางแสดงเวลาการเกิดจันทรุปราคาในวันที่ 31 มกราคม 2561 (ตามเวลาในประเทศไทย)

เหตุการณ์ เวลาในประเทศไทย
เริ่มเกิดจันทรุปราคาเงามัว (P1) 17:51 น.
เริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วน (U1) 18:48 น.
เริ่มเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง (U2) 19:51 น.
กึ่งกลางจันทรุปราคา 20:29 น.
สิ้นสุดจันทรุปราคาเต็มดวง (U3) 21:07 น.
สิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วน (U4) 22:11 น.
สิ้นสุดจันทรุปราคาเงามัว (P4) 23:08 น.

 

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดกิจกรรมสังเกตการณ์ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง 4 จุด ตั้งแต่เวลา 17:00 – 21:00 น. ได้แก่ เชียงใหม่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และสงขลา ชวนประชาชนส่องดวงจันทร์สีแดงอิฐผ่านกล้องโทรทรรศน์ พร้อมถ่ายทอดสดการเกิดปรากฏการณ์ผ่านจอภาพขนาดใหญ่ภายในบริเวณงานให้ชมกันอย่างเต็มตา รวมถึงกิจกรรมทางดาราศาสตร์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ อาทิ แนะนำการดูดาวเบื้องต้น เรียนรู้ท้องฟ้าและกลุ่มดาวต่าง ๆ สังเกตวัตถุท้องฟ้าที่น่าสนใจ เช่น เนบิวลาในกลุ่มดาวนายพราน กระจุกดาวลูกไก่ กระจุกดาวคู่ กระจุกดาวเปิดในกลุ่มดาวหมาใหญ่ เป็นต้น เชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมฟรี!! โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ

จุดสังเกตการณ์หลัก

เชียงใหม่ – ลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่  สอบถามเพิ่มเติม โทร. 081-8854353

นครราชสีมาหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สอบถามเพิ่มเติม โทร. 086-4291489

ฉะเชิงเทรา – หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา สอบถามเพิ่มเติม โทร. 084-0882264

สงขลา – ลานชมวิวนางเงือก หาดสมิหลา สงขลา สอบถามเพิ่มเติม โทร. 095-1450411

นอกจากนี้ ยังร่วมกับโรงเรียนเครือข่ายโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ 77 จังหวัด เปิดฟ้าส่องโลกดาราศาสตร์ เปิดโอกาสเรียนรู้ทั่วหล้า กว่า 260  แห่งทั่วประเทศ ที่ได้รับกล้องโทรทรรศน์จาก สดร. จัดกิจกรรมสังเกตการณ์ ตั้งกล้องโทรทรรศน์บริการนักเรียนและชุมชนใกล้เคียงในครั้งนี้ด้วย  และยังถือเป็นโอกาสดีที่โรงเรียนต่าง ๆ จะใช้ปรากฏการณ์ครั้งนี้ สร้างงานวิจัยดาราศาสตร์ในระดับโรงเรียนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง ได้อีกด้วย โรงเรียนที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลการทำงานวิจัยในเรื่องดังกล่าวกับทางสถาบันฯ ได้ ดร.ศรัณย์ กล่าวปิดท้าย

 

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

โทร. 053-121268-9 ต่อ 210-212 , 081-8854353 โทรสาร 053-121250

E-mail: pr@narit.or.th   Website : www.narit.or.th

Facebook : www.facebook.com/NARITpage

Twitter : @N_Earth ,  Instagram : @NongEarthNARIT

 

แท็ก คำค้นหา