ตั้งเป็นหน้าแรกของคุณ | ADD TO FAVORITES

ตามรอยอารยธรรม วัดปันเส่า

  เมื่อ: วันเสาร์, เมษายน 11th, 2015, หมวด วัฒนธรรม, สกู๊ปพิเศษ

04-Recovered 44249 44253 44256 44257 44258

ตามรอยอารยธรรม วัดปันเส่า

วัดปันเสา แต่เดิมชื่อ วัดปันเส่า (คำว่า ปันเส่า เป็นภาษาล้านนา หมายถึงเตาสำหรับหลอมโลหะ คำว่าปัน เป็นการนับจำนวนของชาวล้านนา หมายถึงจำนวน 1,000 ) ตามประวัติศาสตร์ที่พบจากจารึกต่างๆพบว่า วัดปันเสา เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์มังราย โดยเริ่มก่อสร้างในรัชสมัยของพระญาผายูถึงรัชสมัยของพญากือนา โดยได้สร้างองค์เจดีย์ขึ้นองค์หนึ่งเป็นเจดีย์ขนาดเล็กไม่ใหญ่นักความสูงเท่านกเขาเหิร ต่อมาในสมัยของพญาเมืองแก้ว ทรงมีความดำริที่จะหล่อพระพุทธรูปเจ้าเก้าตื้อ จึงได้มีบัญชาให้กับนายทหารที่มีฝีมือทางการช่างชื่อ ปู่ด้ง ได้ไปเสาะหาสถานที่สำหรับหล่อพระพุทธรูป ปู่ด้งจึงเสาะหาตามคำบัญชาและพบว่าด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (กึ่งกลางระหว่างประตูสวนดอกกับแจ่งหัวรินปัจจุบัน) นอกกำแพงเมืองเชียงใหม่ มีชัยภูมิที่มีความเหมาะสมและเป็นมงคลอย่างยิ่ง เนื่องจากบริเวณนี้มีน้ำไหลผ่านซึ่งเป็นน้ำที่ไหลลงมาจากน้ำตกห้วยแก้ว (เวียงเจ็ดริน) ไหลลงสู่คูเมืองเชียงใหม่ ซึ่งชาวบ้านได้ใช้น้ำทำเกษตรกรรมและบริโภคเพื่อหล่อเลี้ยงชุบชีวิตอีกด้วย

แต่เดิมน้ำสายนี้ได้ไหลผ่านกลางวัดปันเส่า ณ ปัจจุนนี้ได้แห้งหมดแล้ว  พญาเมืองแก้วจึงให้นายช่างทอง ทำการก่อเตาเส่า (เตาหลอมโลหะ) ในบริเวณนี้ จำนวน 1,000 เตา แล้วหลอมโลหะหล่อพระพุทธรูปเป็น 9 ท่อน และได้ทำการเคลื่อนย้ายจากบริเวณนี้ ไปประกอบองค์พระพุทธรูปที่อุทยานบุพผาราม (วัดสวนดอกในปัจจุบัน) และสถาปนาชื่อพระพุทธรูปว่า พระพุทธรูปเก้าตื้อ (คำว่าตื้อ หมายถึงท่อน คือ พระมีจำนวน 9 ท่อน หรือ 9 ส่วน ) บางแห่งเขียนบอกว่าเป็นจำนวนนับน้ำหนักของคนล้านนาโบราณ (ตื้อ เท่ากับ สิบโกฏิ)

หลังจากนั้นพญาเมืองแก้ว ก็มีบัญชาสั่งให้นายช่างทำการรื้อเตาเส่าทั้งหมด และได้ก้อนอิฐเป็นจำนวนมาก จึงได้นำก้อนอิฐมาทำการบูรณะองค์พระเจดีย์เดิมของวัด ซึ่งใช้วิธีการสร้างองค์พระเจดีย์ครอบองค์พระเจดีย์อีกชั้นหนึ่ง มีลักษณะเป็นศิลปะล้านนาผสมสุโขทัยและล้านช้าง และได้สถาปนาชื่อวัดว่า วัดปันเส่า วัดปันเส่ามีความเจริญรุ่งเรืองมาโดยลำดับ ต่อมาเมื่อพม่าได้ยกทัพเข้ามาตีเมืองเชียงใหม่ ทำให้วัดปันเส่าถูกข้าศึกเผาเสียหายทั้งหมด เนื่องจากเสนาสนะทั้งหมดของวัดสร้างขึ้นด้วยไม่สัก คงเหลือแต่องค์พระเจดีย์ที่ไม่ถูกทำลาย แต่ก็ยังได้รับความเสียหายเป็นบางส่วน ต่อมาก็มีพวกมารศาสนาที่หาวัตถุโบราณเก่าแก่ตามวัดร้างต่างๆก็ได้มาลักขุดหาสมบัติภายในองค์พระเจดีย์ไปจนหมด และเป็นวัดร้างนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ยังคงเหลือแต่องค์พระเจดีย์เพียงองค์เดียวที่เป็นโบราณสถาน ระบุว่าเคยแป็นบริเวณวัดในอดีต

ต่อมากรมที่ดินก็มีการออกโฉนดที่ดินให้กับ  วัดปันเส่า นี้ซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมด 2 ไร่ 82 ตารางวา ซึ่งพื้นที่อื่นๆบางส่วนของวัดได้ถูกบุกรุกและกลายเป็นที่ดินเอกชน รวมทั้งบางส่วนกลายเป็นที่ราชพัสดุเนื่องจากไม่มีหลักฐานชัดเจนที่แสดงว่าเป็นที่ดินของวัดแต่เดิม แต่เมื่อปี พ.ศ.2538 วัดปันเส่าได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์โบราณภายในวัด โดยมีกรมศิลปากรและได้เขียนชื่อของ วัดปันเส่า ในหนังสือราชการเป็น วัดปันเสา ต่อมาปี พ.ศ.2550 ทางศูนย์มาลาเรีย เขต 2 เชียงใหม่ ได้ขอคืนพื้นที่ของวัดให้กับสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่ ทางคณะสงฆ์จึงได้มอบหมายให้ พระธรรมเสนาบดี รองเจ้าคณะภาค 7 สมัยนั้นท่านดำรงสมณศักดิ์ พระเทพวรสิทธาจารย์ รองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพวรวิหาร ประธานมูลนิธิพระบรมธาตุดอยสุเทพ ให้ฟื้นฟูเป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ได้มอบหมายให้พระมหาอาวรณ์ ภูริปัญโญ เจ้าอาวาสวัดปันเส่า เป็นผู้ดำเนินการและได้ก่อสร้างพระวิหารขึ้นมาหนึ่งหลังโดยได้นำเอาลวดลายศิลปะแบบล้านนาต่างๆมาผสมผสานเข้าด้วยกันมาใช้กับพระวิหารนี้ นับว่า วัดปันเส่า เพียงแห่งเดียวในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีพระวิหารที่วิตรงดงามโดยช่างฝีมือได้ผสมผสานลวดลายศิลปะแบบล้านนาได้อย่างลงตัว นอกจากนี้ทางวัดได้ก่อสร้างศาลาบำเพ็ญบุญและได้จัดตั้งเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมวัดปันเส่าโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะสร้างเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมสำหรับศรัทธาประชาชนทั่วไป และสร้างเพื่อรองรับพระภิกษุ-สามเณรอาพาธที่มารอรับการรักษาพยาบาลที่ตึกสงฆ์ของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ แต่ไม่มีที่พักก็จะใช้สถานที่แห่งนี้เป็นที่พักชั่วคราว และจะสร้างถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 

สุพัตร์ มหาวัน / รายงาน

แท็ก คำค้นหา