เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ร่วมกับหลายสถาบัน..ศึกษาวิจัยภาวะความเครียดของเสือปลา
เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ร่วมกับหลายสถาบัน..ศึกษาวิจัยภาวะความเครียดของเสือปลา พร้อมได้รับการตีพิมพ์ผลงานในวารสารนานาชาติ
สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) โดยสำนักงานเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันสมิธโซเนียน ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำการศึกษาวิจัยการขับออกของฮอร์โมนความเครียดในตัวอย่างอุจจาระของเสือปลา เพศเมีย ครั้งแรกในโลก พร้อมได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารนานาชาติ Conservation Physiology ของ Oxford University Press และ The Society for Experimental Biology ประเทศอังกฤษ
ดร.ศราวุฒิ ศรีศกุน ผู้อำนวยการสำนักงานเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เปิดเผยว่า การวิจัยเรื่องการศึกษาการทำงานของฮอร์โมนความเครียดจากต่อมหมวกไตของเสือปลา เพศเมีย ในตัวอย่างอุจจาระ (Assessment of faecal glucocorticoid metabolite excretion in captive female fishing cats (Prionailurus viverinus) in Thailand) เกิดจากความร่วมมือของหลายสถาบัน ดังนี้ นายสัตวแพทย์นราธิป วรวัฒนธรรม จากเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี, อาจารย์สัตวแพทย์หญิง ดร.จารุวรรณ คนมี ผู้วิจัยหลักและคณะผู้วิจัย, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ฉัตรโชติ ทิตาราม, อาจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.เฉลิมชาติ สมเกิด, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.วีระศักดิ์ ปัญญาพรวิทยา จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.อนุชัย ภิญโญภูมิมินทร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และดร.เจนิน บราวน์ จาก Smithsonian Conservation Biology Institute ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยนำเสือปลาที่มีอยู่ในเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี มาทำการศึกษาวิจัยการขับออกของฮอร์โมนความเครียดในตัวอย่างอุจจาระของเสือปลา เพศเมีย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยและในโลก
เสือปลา เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกเสือขนาดเล็ก จัดเป็นแมวป่าขนาดกลาง รูปร่างอ้วนป้อม ขนตามลำตัวค่อนข้างสั้นและหนา ขนสีเทาอมน้ำตาล หรือขนสีเทาอมมะกอก มีจุดสีน้ำตาลเข้มแกมดำเรียงเป็นลายแนวขนานไปกับความยาวลำตัว เป็นชั้นที่มีลวดลายและหนามันวาว หางยาวเพียงหนึ่งในสามของลำตัว มีพังผืดบางๆ ยึดระหว่างนิ้วเท้าหน้า เก็บเล็บไม่ได้เหมือนเสือชนิดอื่นๆ เสือปลามีหัวขนาดใหญ่ หูสั้นมีกรอบสีดำ ดวงตาสีเขียว มีความยาวตั้งแต่หัวถึงลำตัว 70-90 ซ.ม. หางสั้น 20-30 ซ.ม. น้ำหนักประมาณ 7-11 ก.ก. ขนาดของเสือปลามีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของอาหารซึ่งก็คือความสมบูรณ์ถิ่นที่อยู่อาศัย
จากผลการศึกษาพบว่าอิทธิพลของฤดูกาลมีผลต่อการขับออกของฮอร์โมนความเครียดในเสือปลา เพศเมีย ซึ่งผลงานดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารนานาชาติ Conservation Physiology ของ Oxford University Press และ The Society for Experimental Biology ประเทศอังกฤษ โดยงานวิจัยนี้สามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการศึกษาการทำงานของฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต เพื่อการจัดการดูแลเสือปลาที่อาศัยอยู่ในเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีและที่อื่นๆ ได้อย่างถูกวิธีในการลดภาวะความเครียดต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น อันส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของเสือปลา โดยปัจจุบันเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี มีเสือปลาทั้งหมด 18 ตัว (เพศผู้ 9 ตัว, เพศเมีย 9 ตัว)