ไขปมปริศนาแดนมังกร : สุสานแห่ง ‘จักรพรรดินีพระองค์สุดท้าย’ ของจีนอยู่ที่ใด


อวี๋โป ชายวัย 51 ปี ผายมือไปยังพื้นที่ต่ำจุดหนึ่งทางทิศใต้ของเขาม่าวเอ่อร์ พร้อมเล่าให้ฟังว่าเขายังจำได้ดีว่าบิดาเคยบอกว่าจุดนั้นแหละคือสถานที่ฝังพระศพของจักรพรรดินีพระองค์สุดท้ายของจีน
“ผมจำได้ว่ามันเป็นวันที่มีหิมะโปรยปราย” หยางจื้อเผิง ชายวัย 63 ปี ชาวเมืองเหยียนจี๋ มณฑลจี๋หลินทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีนกล่าว ขณะหวนนึกถึงอดีตเมื่อปี 1972 ที่เขาและผองเพื่อนได้ไปพบสุสานแห่งหนึ่ง “ที่มีชิ้นไม้สลักอักษรสีดำเขียนว่า ‘สุสานหว่านหรง’”
สถานที่ที่หยางกล่าวถึงอยู่ห่างจากจุดที่อวี๋บอกเล่าเพียง 2-3 เมตรเท่านั้น
กัวปู้หลัวหว่านหรง จักรพรรดินีแห่งราชวงศ์ชิง (ปี 1644-1911) เกิดในปักกิ่งเมื่อปี 1906 พระองค์ทรงอภิเษกสมรสกับอ้ายซินเจวี๋ยหลัวผู่อี๋ (ปูยี) จักรพรรดิพระองค์สุดท้ายของจีนเมื่อปี 1922 และเสด็จสวรรคตด้วยอาการประชวรเมื่อปี 1946
แม้ราชวงศ์ชิงจะไม่ได้ครองบัลลังก์อีกต่อไป แต่อดีตเชื้อพระวงศ์ยังคงได้รับสิทธิพิเศษและยังคงไว้ซึ่งพระยศ ด้วยเหตุนี้ หว่านหรงจึงเป็นจักรพรรดินีพระองค์สุดท้ายของจีน
หว่านหรงและผู่อี๋กลายเป็นจักรพรรดิและจักรพรรดินีหุ่นเชิดของ “แมนจูกัว” ซึ่งเป็นรัฐหุ่นเชิดที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1932 โดยผู้รุกรานชาวญี่ปุ่น เพื่อเข้าควบคุมภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนจนถึงปี 1945
ความคิดเห็นแตกออกเป็นหลายฝั่งว่าแท้จริงแล้วพระศพของหว่านหรงถูกฝังอยู่ที่ใดกันแน่ ขณะที่อนุสรณ์สถานของพระองค์ถูกสร้างขึ้นในเมืองฉางชุนและเมืองตุนฮว่าในมณฑลจี๋หลิน
“ตามเอกสารทางประวัติศาสตร์ เป็นไปได้ว่าหว่านหรงเสด็จสวรรคตในเมืองเหยียนจี๋ อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งสุสานที่แน่นอนยังคงเป็นปริศนา แต่โดยทั่วไปเชื่อกันว่าพระองค์ถูกฝังอยู่ทางทิศใต้ของเขาม่าวเอ่อร์” หลี่ซู่อู่ อดีตประธานสมาพันธ์วรรณกรรมและศิลปะเหยียนจี๋ ผู้อยู่เบื้องหลังการค้นหาสุสานหว่านหรงมานานหลายปีกล่าว
เทศบาลนครเหยียนจี๋ได้เข้าร่วมการค้นหาสุสานหว่านหรง และทำการขุดค้นทางโบราณคดีหลายครั้ง


ชุยเหวิน ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารวัตถุวัฒนธรรมเหยียนจี๋กล่าวว่าเมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ในอดีต สุสานหว่านหรงไม่น่าจะฝังอยู่ลึกมากนัก นอกจากนี้ หลังผ่านการกัดกร่อนจากฝนและปัจจัยอื่นๆ มานานหลายทศวรรษ ชั้นดินบริเวณเชิงเขาอาจถูกชะออกไป และอาจชะเอาสุสานดั้งเดิมออกไปด้วย
หลี่ทราบข่าวจากงานสัมมนาหนึ่งว่ากัวปู้หลัวเสี่ยวอิง หลานสาวของหว่านหรงอาศัยอยู่ในกรุงปักกิ่ง หลี่จึงเดินทางไปยังเมืองหลวงของประเทศเป็นการเฉพาะ เพื่อศึกษาเรื่องราวชีวิตของหว่านหรงให้กระจ่างยิ่งขึ้น
เสี่ยวอิงเล่าว่ามีอนุสรณ์สถานแห่งหนึ่งถูกตั้งขึ้นเคียงข้างป้ายจารึกสุสานจักรพรรดิผู่อี๋ในอำเภออี้เสี้ยน มณฑลเหอเป่ยทางตอนเหนือของจีนเมื่อปี 2006 โดยอนุสรณ์แห่งนี้บรรจุไว้เพียงภาพถ่ายใบหนึ่งของจักรพรรดินีหว่านหรงเท่านั้น
“ช่างน่าเศร้าที่จนถึงป่านนี้ก็ยังไม่พบสุสานของท่านป้า” เสี่ยวอิงกล่าว
“พ่อคอยเตือนผมอยู่เสมอว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับหว่านหรงเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์เมืองเหยียนจี๋ เราควรจะเรียนรู้และรักษาประวัติศาสตร์ไว้ให้สมกับที่เป็นคนท้องถิ่น” อวี๋กล่าว
โชคดีที่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา อาสาสมัครมากมาย เช่น อวี๋และหยาง ได้เข้าร่วมการค้นหาสุสานหว่านหรง และศึกษาประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาดังกล่าว
ชุยซง ประธานสมาคมวรรณกรรมและศิลปะพื้นบ้านเหยียนจี๋ เชื่อมั่นว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยชุยกำลังทำรายงานการวิจัยเกี่ยวกับหว่านหรงและประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง
“การค้นหาตำแหน่งที่แน่นอนของสุสานหว่านหรงเป็นเรื่องยาก แต่กระบวนการค้นหาเป็นสิ่งที่มีความหมายยิ่งกว่านั้น” หลี่กล่าว
ทั้งนี้ การที่ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมในการค้นหาสุสานหว่านหรงมากขึ้น แสดงให้เห็นถึงทัศนคติและพฤติกรรมของสังคมที่ให้ความเคารพประวัติศาสตร์และจดจารเรื่องราวที่เกิดขึ้นเอาไว้
(ภาพ/ข่าวซินหัว)