ตั้งเป็นหน้าแรกของคุณ | ADD TO FAVORITES

สวพส. พาตามรอยกัญชง พืชมหัศจรรย์มากประโยชน์ ส่งเสริมเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เร่งส่งเสริมกัญชง (เฮมพ์) พืชมหัศจรรย์มากประโยชน์ เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่  สามารถใช้ประโยชน์ได้จากทุกส่วนของกัญชง

           

ดร.สริตา ปินมณี นักวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เปิดเผยว่า กัญชง หรือ เฮมพ์เป็นพืชที่เจริญเติบโตค่อนข้างเร็ว มีประโยชน์ สามารถใช้ประโยชน์ได้จากทุกส่วน หากนำไปใช้อย่างเหมาะสมและเกิดการผลิตที่เหมาะสม ก็จะสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี ที่ผ่านมา ทางสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ได้มีการส่งเสริมให้ชาวบ้านหรือกลุ่มชาติพันธุ์เผ่าม้งบนพื้นที่สูง สามารถที่จะปลูกเฮมพ์ได้ มีการแนะนำในเรื่องการขออนุญาตปลูก ซึ่งขณะนี้ ทีมพัฒนาและส่งเสริมของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ได้เป็นพี่เลี้ยงให้กับองค์การบริหารส่วนตำบล โดยปัจจุบันกฎหมายได้กำหนดว่าองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นหน่วยงานภาครัฐที่จะเป็นผู้ขออนุญาตให้เกษตรกรในพื้นที่ปลูกเฮมพ์ได้ เพื่อที่จะนำมาใช้สอยในครัวเรือน ใช้ประโยชน์จากเส้นใย หรือแปรรูปเป็นหัตถกรรมต่าง ๆ ออกมาจำหน่ายสร้างรายได้

            ปัจจุบัน การดำเนินงานที่สำคัญ ประสบผลสำเร็จตามแผนงานและเป้าหมายที่กำหนด ทั้งในด้านงานวิจัยและการพัฒนาพันธุ์เฮมพ์ให้มีคุณสมบัติในการปลูกเป็นการค้าได้ คือ มีสารเสพติดต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด ให้ผลผลิตสูง พร้อมทั้งเทคโนโลยีในการปลูกและดูแลรักษา และได้แก้กฎหมายให้สามารถส่งเสริมปลูกเฮมพ์เป็นพืชที่ใช้สอยในครัวเรือน เพื่อรายได้ให้แก่ชุมชน จากความสำเร็จของการดำเนินงานในข้างต้น สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงจึงได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาในระยะต่อไป คือ การผลักดันการส่งเสริมปลูกเฮมพ์เพื่อให้เป็นประโยชน์ในการสร้างอาชีพและรายได้แก่เกษตรกรบนพื้นที่สูง โดยมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมปลูกทดแทนการปลูกข้าวโพดในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากเฮมพ์เป็นพืชที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถใช้ประโยชน์จากต้นเฮมพ์ได้ทุกรูปแบบ รวมทั้งเป็นพืชสำคัญเชิงนโยบายในการใช้สกัดเพื่อทำยารักษาโรค

ทั้งนี้ คุณสมบัติเด่นของเฮมพ์ คือ เป็นเส้นใยที่ยาว เส้นใยมีความยืดหยุ่นสูง ทนทาน แข็งแรง และมีความสามารถในการซึมซับน้ำและระบายความชื้นได้ดี ด้วยโครงสร้างของเส้นใยที่มีรูพรุนจึงทำให้สวมใส่เย็นสบายในฤดูร้อน และอบอุ่นในฤดูหนาว สามารถป้องกันเชื้อราได้ และสามารถป้องกันรังสียูวีได้ถึงร้อยละ 95

ข้อมูลข่าวและที่มาผู้สื่อข่าว : นางสาวพิมลกัลย์ เดชะชัย

บรรณาธิการ : นางสาวธิติมา พันรอด

แหล่งที่มา : สวท.เชียงใหม่

แท็ก คำค้นหา