ตั้งเป็นหน้าแรกของคุณ | ADD TO FAVORITES

เที่ยววิถีไทย เศรษฐกิจก้าวหน้า ล้านนายั่งยืน

  เมื่อ: วันอาทิตย์, เมษายน 5th, 2015, หมวด เศรษฐกิจ

สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) โดยสำนักพัฒนาธุรกิจและโครงการพิเศษ

จัดโครงการสัมมนาวิชาการ

ภายใต้แนวคิดสร้างธุรกิจท่องเที่ยวและบริการภาคเหนือให้เติบโตอย่างยั่งยืน
เรื่อง “เที่ยววิถีไทย เศรษฐกิจก้าวหน้า ล้านนายั่งยืน”

 เที่ยววิถีไทย เศรษฐกิจก้าวหน้า ล้านนายั่งยืน1  

สำนักงานพัฒนาพิงคนคร รุกจัดสัมมนาครั้งใหญ่ของภาคเหนือ “เที่ยววิถีไทย เศรษฐกิจก้าวหน้า ล้านนายั่งยืน” มุ่งเสริมความแข็งแกร่งระบบคมนาคม-การท่องเที่ยว 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ดันเศรษฐกิจล้านนาเติบโตอย่างยั่งยืน เตรียมแผนหนุนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม-ขนส่ง ทั้งทางบกและทางอากาศ หวังเพิ่มศักยภาพให้กับแหล่งท่องเที่ยวในภาคเหนือเพิ่มมากขึ้นในระยะยาว ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) โดยได้รับเกียรติบรรยายพิเศษจาก พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม บรรยายพิเศษหัวข้อ “ระบบคมนาคมขนส่งที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบน เพื่อรองรับการเปิดประชาคมอาเซียน”

เที่ยววิถีไทย เศรษฐกิจก้าวหน้า ล้านนายั่งยืน2

นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า เป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวปี 2558 ของจังหวัดเชียงใหม่จะเพิ่มเป็น 8 ล้านคนจากปี 2557 ที่มีราว 7 ล้านคน และคาดว่าจะสร้างรายได้กว่า 58,550 ล้านบาท โดยปัจจัยที่จะทำให้จังหวัดทางภาคเหนือตอนบนทั้ง 8 จังหวัด สามารถสร้างรายได้ดังกล่าว คือ การคมนาคม ที่จะนำพานักท่องเที่ยวเดินทางไปยังพื้นที่เป้าหมายทั้ง 8 จังหวัดได้อย่างสะดวกสบายและปลอดภัย

ทั้งนี้ ในส่วนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เอง ก็ตั้งเป้าหมายให้ปี 2558 เป็นปี “ท่องเที่ยววิถีไทย” ส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้เล็งเห็น “ศักยภาพ” ของจังหวัดภาคเหนือตอนบน ที่จะเป็น “ตัวช่วย” สร้างรายได้ให้กับประเทศ ให้ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ คือ 2.2 ล้านล้านบาทในสิ้นปี 2558 เพียงแต่ต้องพัฒนาธุรกิจอย่างมีกลยุทธ์ และทำให้ธุรกิจในภาคเหนือสามารถเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว

ดังนั้น หาก 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ขนส่ง ทั้งทางบกและทางอากาศ ก็เชื่อว่าจะยิ่งช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับแหล่งท่องเที่ยวในภาคเหนือเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางให้แก่นักท่องเที่ยว เอื้อต่อการขยายตลาดนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม ให้มีจำนวนมากขึ้นไปด้วย

เที่ยววิถีไทย เศรษฐกิจก้าวหน้า ล้านนายั่งยืน3

ดร.ศราวุฒิ ศรีศกุน ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี 2556 มีจุดมุ่งหมายช่วยส่งเสริมและเพิ่มพูนศักยภาพจังหวัดเชียงใหม่ และพื้นที่เชื่อมโยงภาคเหนือตอนบนทั้ง 8 จังหวัด ในด้านการเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ได้จัดสัมมนาภายใต้แนวคิดการสร้างธุรกิจท่องเที่ยวและบริการภาคเหนือให้เติบโตอย่างยั่งยืน ในหัวข้อ “เที่ยววิถีไทย เศรษฐกิจก้าวหน้า ล้านนายั่งยืน” เป็นการจุดประกายความคิด ให้กับผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ให้เกิดแรงบันดาลใจและนำความรู้ที่ได้จากการสัมมนาไปต่อยอดทางธุรกิจ พัฒนาทิศทางการตลาดให้เติบโตแข็งแรง

สำหรับเวทีสัมมนาครั้งนี้ ได้จะเป็นตัวเชื่อมโยงจากทั้ง 8 จังหวัด เป็นเวทีสื่อกลางในการพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และไอเดียในการพัฒนาการท่องเที่ยวของตัวเอง รวมถึงวัฒนธรรมประเพณี ระบบขนส่งมวลชนของแต่ละจังหวัด ฉะนั้นทั้ง 8 จังหวัด (เชียงใหม่, เชียงราย, พะเยา, แม่ฮ่องสอน, ลำพูน, ลำปาง, แพร่, น่าน) เป็นการดึงจุดแข็งของแต่ละพื้นที่ นำมาสู่การเชื่อมโยงเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวภาคเหนือตอนบนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยมีพื้นฐานของความเป็นวิถี-วัฒนธรรมของเมืองเหนือที่ต้องรักษาไว้ ซึ่งจะทำให้ภาพชัดเจนขึ้น และประโยชน์ของการทำพื้นที่เชื่อมโยงจะทำให้ผู้คนอยากเที่ยวภาคเหนือในระยะเวลาที่ยาวขึ้น ประหยัดเวลามากขึ้น เพื่อเป็นการกระจายรายได้ให้แก่ภาคเหนือตอนบน ขณะที่บางโครงการของบางจังหวัดเดินหน้าไปบ้างแล้วกว่า 30-40% โดยที่น่าจะเห็นเป็นรูปร่างในปี 2561 นี้ เพราะสิ่งที่เราจะทำคือพัฒนาการท่องเที่ยวของภาคเหนือ ไม่ใช่เพียงแค่ระดับจังหวัดเท่านั้น แต่คือการหาจุดเด่นของแต่ละพื้นที่จังหวัด นำมาบูรณาการร่วมกัน เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดในทุกๆ จังหวัด ทำให้นักท่องเที่ยวอยากอยู่เที่ยวภาคเหนือนานขึ้น

“หลังการระดมความคิดจากการสัมมนาครั้งนี้เสร็จสิ้นแล้ว คาดว่าโครงการจะเห็นผลในปีหน้า เพราะบางไอเดียที่น่าสนใจได้เริ่มทำไปแล้วกว่า 30-40% เรามีการยื่นเสนอยื่นงบประมาณของปี 2559 ไปแล้ว น่าจะได้เห็นอะไรที่เป็นรูปเป็นร่างในปีหน้า ส่วนไอเดียอื่นๆ ก็น่าจะมาจากการสัมมนาครั้งนี้เช่นกัน และจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2561” ดร.ศราวุฒิ กล่าว

 

แท็ก คำค้นหา