การผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่

ในปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีด้านการแพทย์ทำให้คนเราสามารถเปลี่ยนอวัยวะที่เสื่อม โดยใช้อวัยวะของคนอื่นมาใส่แทน เช่น เปลี่ยนกระจกตา ตับ ไต ไขกระดูก และเปลี่ยนอวัยวะเทียมใส่แทน เช่นข้อสะโพก ข้อเข่า ช่วยทำให้คนเรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เริ่มให้บริการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะตั้งแต่ พ.ศ. 2533 โดยเริ่มที่การผ่าตัดเปลี่ยนไต ปีแรก 1 ราย ปีต่อๆมา 2 ราย และ 7 ราย ตามลำดับ ย้อนหลัง 3 ปีที่ผ่านมาผลงานเปลี่ยนไตเฉลี่ยปีละ 50 ราย การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาเริ่มดำเนินการปี 2538 สถิติผลงานผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาเฉลี่ย ปีละ 60 ราย ซึ่งมากเป็นอันดับสองของประเทศรองจาก รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย การผ่าตัดเปลี่ยนตับ ซึ่งต้องอาศัยทีมงานจำนวนมาก เริ่มทำเมื่อ พศ. 2551 และในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมามีการผ่าตัดเปลี่ยนตับจำนวน 8 ราย การปลูกถ่ายไขกระดูกในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือด เริ่มให้บริการในปี 2557 จำนวน 12ราย และปี 2558 จำนวน 15 ราย จะมีโอกาสให้บริการเพิ่มมากขึ้น เมื่อ กองทุนประกันสุขภาพ กองทุนประกันสังคมเพิ่มสิทธิประโยชน์เรื่องนี้ในปีงบประมาณ 2559
การเปลี่ยนอวัยวะเทียม ข้อสะโพกและข้อเข่า เริ่มทำเมื่อ 30 กว่าปีก่อน แต่เนื่องจากเทคโนโลยีการผลิตข้อเทียมในยุคนั้นยังได้ผลไม่ดีนัก จึงไม่เป็นที่นิยม เมื่อประมาณ พศ. 2535 เป็นต้นมา วัสดุผลิตข้อเทียมมีคุณภาพดี ทำให้มีความนิยมผ่าตัดเปลี่ยนข้อมากขึ้นตามลำดับ ผลงานย้อนหลัง 3 ปี เฉลี่ย รพ.มหาราชให้บริการเปลี่ยนข้อสะโพกปีละ 150 ราย และข้อเข่าปีละ 250 ราย
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ศูนย์ศรีพัฒน์ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ มุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพการให้บริการพร้อมกับเทคโนโลยีทันสมัย เพื่อให้บริการประชาชนชาวเชียงใหม่และภาคเหนือ อย่างทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้วในยุโรปและอเมริกา