ตั้งเป็นหน้าแรกของคุณ | ADD TO FAVORITES

มช.พร้อมนำผลงานวิจัย น้ำตาลลำไย ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่การผลิตเชิงพาณิชย์

  เมื่อ: วันพุธ, ธันวาคม 23rd, 2015, หมวด ไม่มีหมวดหมู่

110714151456IMG_6814

 

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ บริษัท พีเอ็มกรุ๊ป จำกัด ลงนามในสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยี และอนุญาตให้ใช้เทคโนโลยีสารสกัดลำไย หรือน้ำตาลลำไย ทั้งชนิดเหลวและผง  นำองค์ความรู้ในการพัฒนากระบวนการแปรรูปลำไยทั้งเมล็ดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ  ขยายผลความสำเร็จงานวิจัย ต่อยอดสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์

 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 ณ ห้องประชุมพระยาศรีวิสารวาจา สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะผู้บริหาร คณาจารย์ นักวิจัย เจ้าหน้าที่ ร่วมเป็นสักขีพยาน ในโอกาสที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดพิธีลงนามในสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยี และอนุญาตให้ บริษัท พีเอ็มกรุ๊ป จำกัด ใช้เทคโนโลยีสารสกัดลำไย โดยมีค่าเปิดเผยเทคโนโลยีเป็นมูลค่า 20 ล้านบาท ซึ่งมีรองศาสตราจารย์ ดร.อาวรณ์ โอภาสพัฒนกิจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชรินทร์ เตชะพันธุ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายแผนงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุทธนา พิมลศิริผล ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมลงนามในพิธี และมีนายเฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท พีเอ็มกรุ๊ป จำกัด เป็นผู้ลงนามในสัญญา

รศ.ดร.อาวรณ์ โอภาสพัฒนกิจ  รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ลำไยเป็นพืชทางเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคเหนือ มีจำนวนพื้นที่การเพาะปลูกค่อนข้างมากและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือโดยเฉพาะในจังหวัดลำพูน เชียงใหม่  เชียงราย และพะเยา เป็นจำนวนมาก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาผลผลิตลำไยมีจำนวนค่อนข้างมาก ส่งผลให้เกิดปัญหาลำไยล้นตลาดและราคาตกต่ำ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เล็งเห็นปัญหาและศึกษาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาผลผลิตลำไยล้นตลาดอย่างยั่งยืน โดยการคิดค้นวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิตแปรรูปลำไยทั้งเมล็ดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เนื่องด้วยพบว่าในลำไยมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย จนเกิดผลสำเร็จ ได้ผลิตภัณฑ์ใน 2 ลักษณะ คือ ในรูปแบบของน้ำเชื่อม (ชนิดเหลว) และผลึกคล้ายน้ำตาลทราย (ชนิดผง) อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเป็นเพียงการวิจัยในระดับห้องปฏิบัติการและขยายผลไปสู่โรงงานต้นแบบเท่านั้น การนำเทคโนโลยีสารสกัดลำไยไปต่อยอดผลิตในเชิงอุตสาหกรรมจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตลำไยของเกษตรกรในภาคเหนือ และสามารถแก้ปัญหาลำไยล้นตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลดีในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและระดับประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

ทั้งนี้ บริษัท พีเอ็มกรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำที่มีศักยภาพสูงในการดำเนินธุรกิจ ได้ให้ความสนใจในเทคโนโลยีและต้องการพัฒนาต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงได้มีการลงนามในสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยมีค่าเปิดเผยเทคโนโลยีเป็นมูลค่า 20 ล้านบาท มีผลผูกพันคู่สัญญาเป็นระยะเวลา 25 ปี นับแต่วันที่ลงนามในสัญญา และบริษัท พีเอ็มกรุ๊ป จะจ่ายค่าตอบแทนตามรายได้ที่จำหน่ายสินค้าสารสกัดลำไยแก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่ปีที่ 2 ถึงปีที่ 11 และปีที่ 12 ถึงปีที่ 25 ตามพันธสัญญาที่ได้ลงนาม นับว่าเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการบรรลุตามเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ของโครงการวิจัยที่ผ่านมา

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุทธนา พิมลศิริผล ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ (FIN) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้รายละเอียดเพิ่มเติมถึงที่มาของโครงการวิจัยว่า โครงการวิจัยนี้เป็นโครงการที่ดำเนินการวิจัย นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชรินทร์ เตชะพันธุ์ ซึ่งต้องการนำผลผลิตลำไยคละเกรดที่มีไม่ได้คุณภาพและมีมูลค่าต่ำมาเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น โดยได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ในการทวนสอบเทคโนโลยี และประสบความสำเร็จในระดับห้องปฏิบัติการในปี 2554 จากนั้นได้ดำเนินการจัดทำโครงการโรงงานต้นแบบสายการผลิตและการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เชิงพาณิชย์ โดยได้รับการสนับสนุนโครงการจากหลายภาคส่วนในรูปแบบของ Triple helix (ภาครัฐ-เอกชน- มหาวิทยาลัย) โดยมีคณะอุตสาหกรรมเกษตร และอุทยาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับภาคเอกชน โดยสภาอุตสาหกรรม จังหวัดเชียงใหม่ และภาครัฐ โดยการสนับสนุนของสำนักงานบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (OSM 1) โดยสำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้เกิดโครงการนี้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณโครงการรวมตลอดระยะเวลา 3 ปี ทั้งหมด 28.6 ล้านบาท เพื่อช่วยให้งานวิจัยถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อภาคเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ต่อมาบริษัท พีเอ็มกรุ๊ป จำกัด ได้ให้ความสนใจในเทคโนโลยีและต้องการพัฒนาต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์อย่างแท้จริง ในการนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุทธนา พิมลศิริผล ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ (FIN) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับเป็นหน่วยงานในการดำเนินการเจรจาเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

สารสกัดลำไยทั้งในรูปแบบของน้ำเชื่อม (ชนิดเหลว) และผลึกคล้ายน้ำตาลทราย (ชนิดผง) จะประกอบด้วยสาระสำคัญ คือ กรดเอลาจิก กรดแกลลิก และคลอริลาจิน ซึ่งเป็นสารประกอบฟีนอลลิคที่มีคุณสมบัติ เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง สารที่มีประโยชน์จากลำไยค่อนข้างจะมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี หากเปรียบเทียบกับสารต้านอนุมูลอิสระทั่วไป เช่น วิตามิน C เพราะหากโดนแสงหรือน้ำลายในปากจะสูญประสิทธิภาพไปมาก ในขณะที่สารสกัดจากลำไยมีสภาพคงทนมากกว่า มีการออกฤทธิ์ที่เซลล์เป้าหมายได้ดีกว่า ในกรณีที่เซลล์เป็นมะเร็งแล้ว ได้มีการนำเซลล์มะเร็งมาทดสอบกับสารสกัดจากลำไย พบว่า สามารถไปเร่งวงจรรอบของการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งให้วงจรรอบเร็วขึ้น ทำให้เซลล์แก่เร็วขึ้นตายลงด้วยตัวเอง เป็นการทำลายเซลล์มะเร็งด้วย นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบทั่วไป ลดอาการอักเสบทั่วไป ลดอาการเจ็บหวด เช่น ข้อเข่าเสื่อม บาดแผลทั่วไป เป็นอาหารของแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ ช่วยทำลายแบคทีเรียที่เป็นสาเหตะของโรคท้องเสีย ช่วยยับยั้งเอนไซม์ที่ไปเร่งการสร้างเม็ดสีเข้มให้ผิวหนัง ทำให้ดูอ่อนวัย ตลอดจนบำรุงหัวใจ ไต โลหิต ลดอาการกระวนกระวาย แก้อาการนอนไม่หลับและหลงลืมได้อีกด้วย

 

แท็ก คำค้นหา