ตั้งเป็นหน้าแรกของคุณ | ADD TO FAVORITES

รอง ผวจ.เพชรบุรี พร้อมคณะจากเชียงราย มาศึกษาดูงาน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อน “เมืองสร้างสรรค์” หลังเชียงใหม่ได้รับการยกย่องจากยูเนสโก เป็นเอกอุ 1 ใน 200 เมืองทั่วโลกด้านหัตถกรรมศิลปะพื้นบ้าน

  เมื่อ: วันจันทร์, ตุลาคม 12th, 2020, หมวด ไม่มีหมวดหมู่

รอง ผวจ.เพชรบุรี พร้อมคณะจากเชียงราย มาศึกษาดูงาน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อน “เมืองสร้างสรรค์” หลังเชียงใหม่ได้รับการยกย่องจากยูเนสโก เป็นเอกอุ 1 ใน 200 เมืองทั่วโลกด้านหัตถกรรมศิลปะพื้นบ้าน โดย อบจ.เชียงใหม่ต้อนรับ แจกแจงผลสำเร็จ และมีการดูงานหมู่บ้านภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านหัตถกรรมด้วย
เมื่อบ่ายวันที่ 9 ตุลาคม 2563 ที่ห้องประชุม ชั้น 4 องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)เชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่นายอดิศร กำเนิดศิริ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมต้อนรับคณะศึกษาดูงานจาก องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) (อพท.) ร่วมกับจังหวัดเพชรบุรี นำโดย นางวันเพ็ญ มังศรีรองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี นายวสันต์ กิตติกุล นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบุรี และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย นำโดย นางจิตรา สิทธนานุวัฒน์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย เพื่อศึกษา แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิด วิธีการ กระบวนการ ขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์จังหวัดเชียงใหม่ ด้านหัตถกรรมศิลปะพื้นบ้านขององค์การยูเนสโก (UNESCO)
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2558 อบจ.เชียงใหม่ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินโครงการขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่เป็น เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การ UNESCO สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน โดยมีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นที่ปรึกษา เริ่มโครงการด้วยการศึกษาศักยภาพและความพร้อมของเมืองเชียงใหม่ ที่เกี่ยวข้องกับงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านของเมืองเชียงใหม่ ในมิติของการเตรียมความพร้อมในการสร้างความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีการประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน สร้างความเข้าใจในทุกๆ ด้านให้ครอบคลุมทุกหลักเกณฑ์ของการพิจารณาการเป็นเมืองสร้างสรรค์ขององค์การ UNESCO มีการจัดทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านที่เน้นการเปิดโอกาสในการสร้างผู้ประกอบการใหม่ ผ่านการ ฝึกอบรมและการทำงานเชิงวิชาการในเชิงรุก ผ่านการสัมมนา และงานมหกรรมศิลปะ พื้นบ้าน การประชาสัมพันธ์และการสร้างเครือข่ายกับเมืองสร้างสรรค์อื่น จนกระทั่งต่อมาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO เป็น 1 ใน 200 เมืองทั่วโลก


นางวันเพ็ญ มังศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า การนำคณะมาศึกษาดูงาน และกระบวนการนำเสนอเพื่อการเป็นเมืองสร้างสรรค์ต่อ UNESCO ที่จังหวัดเชียงใหม่ดำเนินการอย่างไรนั้น เนื่องจากปัจจุบันในประเทศไทยมี เมืองสร้างสรรค์ที่ได้ขึ้นทะเบียน 4 แห่งคือ ภูเก็ตด้านอาหาร สุโขทัยด้านสร้างสรรค์ศิลปะพื้นบ้าน กทม.ด้านวัฒนธรรมและแฟชั่น และเชียงใหม่ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ซึ่งในเร็วๆนี้ จะมีการนำเสนอใหม่พร้อมกันอีก 4 จังหวัด คือเพชรบุรี เสนอเรื่องเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร และหัตถกรรมพื้นบ้าน สุพรรณบุรี ด้านดนตรีพื้นบ้าน น่านด้านหัตถกรรมพื้นบ้าน และเชียงรายด้านหัตถกรรมการออกแบบ ซึ่งใน 4 เมืองที่เสนอครั้งนี้จะได้รับการคัดเลือกเหลือ 2 เมอง และ 2 ปีจะมีการรับรองครั้งหนึ่ง
“ศักยภาพของจังหวัดเพชรบุรีเรามีมาก คือมีทั้ง 2 ด้าน ๆศิลปหัตถกรรมตระกูลช่างก็มี ส่วนด้านอาหารพื้นบ้านนั้น เพชรบุรีถือเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ รสชาติและความนิยมไม่แพ้ภูมิภาคใด เช่น ข้าวแช่เมืองเพชร ข้าวแกงเมืองเพชร แกงหัวตาลใบมะขาม ขนมจีน ทอดมัน ขนมจีนน้ำแดง เป็นต้น แล้วเพชรบุรียังเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลตะโหนดดีที่สุด รวมทั้งของคาวของหวาน ขนมต่างๆ ก็เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เช่นขนมหม้อข้าวหม้อแกง เมืองเพชรบุรีจึงเป็นเมืองอาหารการกินกับข้าวแห่งสยามก็ว่าได้” นางวันเพ็ญ มังศรี กล่าวว่า การยกคณะมาดูงานครั้งนี้ เพื่อหาประสบการณ์เมืองที่ได้รับการยกย่อง เพื่อจะนำเสนอให้เพชรบุรีได้ขึ้นบัญชีเป็นเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO ที่จะมีคนทั่วโลกเดินทางท่องเที่ยวมาสัมผัสกันมากขึ้น


ทางด้าน นายวสันต์ กิตติกุล กล่าวเสริมว่า การที่มีสายการบินตรงหัวหิน-เชียงใหม่ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างเชียงใหม่กับชะอำเพชรบุรี จนถึงหัวหินประจวบคีรีขันธ์สะดวกมากขึ้น ครั้งนี้คณะเดินทางมาระหว่าง 9-11 ตุลาคม 2563 วันแรกเข้าประชุมร่วมกับ อบจ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นต้นเรื่องและสนับสนุนงบประมาณการผลักดันขับเคลื่อนเป็นเมืองสร้างสรรค์ต่อ UNESCO วันที่สองและสามดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการอนุรักษ์ ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านของจังหวัดเชียงใหม่ แวะชมชุมชนวัดเกต และบ้านไร่ใจสุข(ผ้าทอ) บ้านน้ำต้นสล่าแดง (เครื่องปั้นดินเผา) และสรุปกิจกรรมการศึกษาดูงาน ก่อนเดินทางกลับในวันที่ 11 ตุลาคมนี้.

แท็ก คำค้นหา