ตั้งเป็นหน้าแรกของคุณ | ADD TO FAVORITES

อำนาจ…พูด พาท่องเที่ยวเส้นทางร้อยโล ร้อยลี้ กับ สำนักงาน ททท.ลำปาง ตามรอยบุญครูบาเจ้าศรีวิชัย และครูบาขาวปี ป่าซาง บ้านโฮ่ง ลี้ แม่ทะ แม่ทา

  เมื่อ: วันอาทิตย์, กันยายน 13th, 2020, หมวด AEC HIGHLIGHTS, อำนาจ...พูด

อำนาจ…พูด พาท่องเที่ยวเส้นทางร้อยโล ร้อยลี้ กับ สำนักงาน ททท.ลำปาง ตามรอยบุญครูบาเจ้าศรีวิชัย และครูบาขาวปี ป่าซาง บ้านโฮ่ง ลี้ แม่ทะ แม่ทา


เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 ณ วัดพระธาตุหริภุญชัย อ.เมือง จ.ลำพูน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานลำปาง ดูแลจังหวัดลำพูน เปิดทริปการท่องเที่ยว Media Fam Trip นำคณะสื่อมวลชนจากจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง และกรุงเทพฯ ร่วมงานสลากย้อมเมืองลำพูนและสำรวจเส้นทางท่องเที่ยว ลำพูน-ลำปาง ระหว่างวันที่ 1-2 กันยายน 2563     นายวิสูตร บัวชุม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานจังหวัดลำปาง ดูแลการท่องเที่ยวจังหวัดลำพูนด้วย เปิดเผยว่า งานสลากย้อมเมืองลำพูน เป็นประเพณีประจำปีที่ยิ่งใหญ่ ถือว่ามีหนึ่งเดียวในโลกที่ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร  โดยได้จัดงานขึ้นระหว่างวันที่  24 สิงหาคม – 2 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา ณ วัดพระธาตุหริภุญชัย อ.เมือง จ.ลำพูน ภายใต้มาตรการป้องกันโรคโควิด-19 นับเป็นประเพณีที่มีความเป็นมาและสร้างเสน่ห์ให้กับชุมชนเป็นอย่างมาก มีรากฐานมาจากชาวยองหรือชาวลื้อจากสิบสองปันนา จากนั้นได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดลำพูน เมื่อประมาณ 200 กว่าปีที่แล้ว เป็นส่วนสำคัญของงานประเพณี “ทานสลากภัตร”  สูงประมาณ 20 เมตร มีร่มกางที่ปลายยอด แขวนเครื่องปัจจัยไทยทาน เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นเครื่องประดับต้นสลาก 

   ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานลำปาง กล่าวว่า “ททท.สำนักงานลำปาง ได้รับผิดชอบการท่องเที่ยว 2 จังหวัดคือลำพูนและลำปาง หลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการ ก็ได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยทันที โดยใช้หลัก New normal tourism ซึ่งการป้องกันรักษาห่างยังมีความสำคัญอยู่     ททท.สำนักงานลำปาง จึงได้จัดแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยว เรียกว่า Lampang plus Lamphun in Green Season แบบ New normal เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในฤดูสีเขียวหรือฤดูฝน สำหรับสถานที่เป็นธรรมชาติถือว่าเป็นช่วงที่สวยงามและน่าท่องเที่ยว ระหว่างเดือน ก.ค -ต.ค มีทั้งหมด 7 เส้นทาง หนึ่งในเส้นทางคือเส้นทาง 106 เส้นทางศรัทธาครูบาสู่ล้านนาลำพูน ตั้งแต่ อ.เถิน-ลี้-บ้านโฮ้ง-ป่าซาง-เมืองลำพูน เป็นเส้นทางวัฒนธรรมและศรัทธาครูบา ทั้งครูบาศรีวิชัย ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา  ครูบาขาวปี ซึ่งผู้คนให้ความสนใจในการท่องเที่ยว สักการะ

นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ อำเภอเสริมงามก็เป็นอีกชื่อหนึ่งใน 7 เส้นทาง คือเส้นทางร้อยโล ร้อยลี้ คือจากลำปางถึงลี้ ประมาณ 100 กิโลเมตร ร้อยลี้ ก็คืออำเภอลี้ของเรา  ททท.ลำปาง ยังเตรียมการเปิดฤดูท่องเที่ยว High season เริ่มเดือน พ.ย. 63 เป็นต้นไป ซึ่งในสถานการณ์โควิดขณะนี้ นักท่องเที่ยวก็ยังคงเป็นคนไทยและชาวต่างชาติที่อยู่เมืองไทยประมาณ 2 ล้านกว่าคน ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะมาชดเชยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปจำนวนมาก นั่นเป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับและต้องมีความอดทนค่อนข้างมาก แต่การท่องเที่ยวของไทยก็ต้องเดินหน้าเพราะเรามีการความหวังเรื่องวัคซีนและจัดการเรื่องโควิดได้เป็นอย่างดี เพราะจะเป็นแรงเสริมให้การท่องเที่ยวของประเทศไทยทั้งตลาดต่างประเทศและในประเทศ กลับเดินทางมาท่องเที่ยว”    ส่วนจังหวัดลำพูนซึ่งใกล้เชียงใหม่ ก็ถือว่าเป็นความได้เปรียบอันหนึ่ง ในการที่เชื่อมโยงการท่องเที่ยวไปยังเชียงใหม่ ตอนนี้กำลังสำรวจอย่างจริงจัง กลุ่มการท่องเที่ยวภาคเหนือ เราจะส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยรถไฟจาก เชียงใหม่ – ลำพูน -ลำปาง สามารถเดินทางเองและเป็นเพจเกจทัวร์ โดยเอกชนทั้งสามจังหวัดก็จะร่วมมือกันออกแบบการท่องเที่ยวเป็นสีสันให้กับการท่องเที่ยว” ผอ.ททท.ลำปาง กล่าว

จากนั้นคณะสื่อมวลชนจากจังหวัดเชียงใหม่ได้เดินทางท่องเที่ยวเส้นทาง ร้อยโล ร้อยลี้ เริ่มจากลำพูน คุ้มเจ้ายอดเรือน อายุ 110 ปี เป็นคุ้มที่เจ้าหลวงลำพูนองค์สุดท้ายสร้างให้เจ้ายอดเรือนชายาคนที่ 4 พำนักปัจจุบันหลานคนที่ 7 ครอบครอง เปิดให้ผู้สนใจทางประวัติศาสตร์ลำพูนเข้าชมฟรี 

  หลังจากนั้นคณะสื่อมวลชนเดินทางไป อ.ป่าซาง เพื่อสักการะรอยพระพุทธบาท ณ วัดพระพุทธบาทตากผ้า โดยแวะดื่มกาแฟที่ร้านป่าซางค็อปฟี่  เป็นร้านร้านกาแฟคนหนุ่มคนสาวเป็นเจ้าของ ร้านใช่ได้น่านั่งราคาไม่แพง เป็นที่นิยมของคนป่าซาง ขนาดช่วงโควิด ยังขายได้ถึงวันละสองร้อยแก้ว

วัดพระบาทตากผ้า เป็นวัดที่มีรอยพระบาทพระพุทธเจ้าปรากฎอยู่ ประวัติดังนี้ ตั้งอยู่ระหว่างดอยม่อนช้างกับดอยเครือ เล่ากันว่าเป็นรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าที่มาประทับไว้ตรงบริเวณที่นำผ้าจีวรมาตาก มีรอยตารางบนผาหินที่เชื่อว่าคือรอยตากผ้าจีวรพระพุทธเจ้า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จมาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ หลังจาริกและประทับพระบาทในที่ต่างๆ แล้ว เมื่อเสด็จมาถึงบนลานผาลาด (คือบริเวณที่ตั้งวัดพระพุทธบาทตากผ้าปัจจุบัน) สถานที่ที่พระองค์ทรงตั้งพระทัยจะประดิษฐานปาทเจดีย์ จึงทรงหยุดพักผ่อน แล้วให้พระอานนท์นำเอาจีวรไปตากบนผาลาดใกล้กับที่ประทับ หลังจากนั้นทรงอธิษฐานเหยียบพระบาทประดิษฐานรอยไว้บนผาลาดนี้ และตรัสทำนายว่าสถานที่แห่งนี้จะปรากฏชื่อว่า “พระพุทธบาทตากผ้า” ต่อไปได้กล่าวไว้ว่าในสมัยพุทธกาล สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธะเจ้าได้เสด็จมาโปรดเวไนยสัตว์ในดินแดนสุวรรณภูมิ (ประเทศไทยในปัจจุบัน) พระองค์ได้เสด็จไปในที่ต่าง ๆ กระทั่งเสด็จถึงบริเวณวัดพระพุทธบาทตากผ้าแห่งนี้ซึ่งเป็นผาลาด จึงได้ทรงอธิษฐานประทับรอยพระพุทธบาทลง ณ ที่แห่งนี้ เพื่อเป็นที่สักการบูชาของมวลเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายและพระองค์ได้ตรัสให้พระอานนท์ เอาจีวรไปตากบนผาลาด ใกล้บริเวณที่ประทับ ซึ่งปรากฏเป็นรอยเลือนลางอยู่  วัดนี้จึงได้ชื่อว่า “วัดพระพุทธบาทตากผ้า”    

คณะเดินทางไป อ.ลี้ ผ่าน อ.บ้านโฮ่ง แวะรับประทานอาหารร้านลาบไก้บ้านโฮ่ง เป็นร้านดัง อ.บ้านโฮ่ง นอกจากลาบไก่ขึ้นชื่อแล้ว ยังมีอาหารเมืองบริการอีกด้วย

จากนั้นเดินทางไปวัดพระพุทธบาทผาหนาม อ.ลี้ สักการะสรีระครูบาอภิชัยขาวปีในโลงแก้ว ครูบาขาวปีเป็นศิษย์เอกครูบาเจ้าศรีวิชัย เมื่อครั้งครูบาศรีวิชัย สร้างถนนขึ้นดอยสุเทพครูบาขาวปีได้นำชาวกะเหรี่ยงจาก อ.ลี้ 500 คน มาร่วมสร้างถนนด้วย ครูบาขาวปีบวชเณรตอนอายุ 16 ปี ศึกษาเรียนรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมกับครูบาศรีวิชัยพระอาจารย์ จนแตกฉาน อายุ 22 ปี อุปสมบทเป็นพระโดยครูบาศรีวิชัยเป็นผู้อุปสมบทให้ หลังจากนั้นได้ติดตามครูบาศรีวิชัยไปพัฒนาวัดต่างๆในเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา จนมีความชำนาญในเรื่องของการก่อสร้างระดับสถาปนิก แต่ถูกจับสึกถูกกล่าวหาว่าหนีการเกณฑ์ทหาร ถูกศาลจำคุก 6 เดือน ระหว่างอยู่ในคุกถูกส่งไปรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลลำพูน

เมื่อเห็นสภาพอาคารโรงพยาบาลทรุดโทรม จึงรับอาสาสร้างอาคารโรงพยาบาลให้ในงบประมาณไม่กี่พันบาท จนแล้วเสร็จพ้นโทษพอดี เนื่องจากผ่านการเป็นนักโทษจึงไม่สามารถกลับมาบวชได้อีก จึงได้นุ่งขาวห่มขาว และติดตามครูบาศรีวิชัยไปพัฒนาวัดต่างๆทั่วภาคเหนือ ครูบาศรีวิชัยเห็นเป็นคนดีมีศิลธรรมจึงอุปสมบทให้อีกครั้ง เมื่อเป็นพระก็เจริญรอยตามครูบาศรีวิชัยในการสร้างวัด เมื่อศรัทธาประชาชนหมู่บ้านใดนิมนต์ไปพัฒนาท่านก็จะไปทันที     การสร้างวัดก็ต้องบอกบุญไปยังสาธุชนที่มีจิตศรัทธา มีผู้แห่ร่วมทำบุญมาก ก็ถูกทางราชการ อ.ลี จับสึกอีกครั้ง เป็นครั้งที่ 2 ด้วยข้อกล่าวหาว่าเรี่ยไร ท่านจึงกลับนุ่งขาวห่มขาวอีกครั้ง แต่ท่านก็ยังปฎิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดและร่วมพัฒนาวัดที่มีคนบอกบุญไป ประชาชนก็ไม่เสื่อมคลายในการเคารพนับ ถือถึงแม้ว่าจะครองนุ่งขาวห่มขาวก็ตาม

สาธุชนจึงเรียกร้องให้ครูบาศรีวิชัยอุปสมบทให้เป็นครั้งที่ 3 คราวนี้ครูบาศรีวิชัยถูกคณะสงฆ์ใหญ่เรียกตัวไปดำเนินคดีที่กรุงเทพฯ ในข้อหาเป็นพระอุปฌาให้ครูบาขาวปี ท่านเห็นพระอาจารย์ได้รับความเดือดร้อน จึงยอมสละสึกจากความเป็นพระ แล้วนุ่งขาวห่มขาวเป็นครั้งที่ 3 และครองขาวจนถึงแก่กรรมเมื่ออายุ 83 ปี ตลอดระยะเวลาห่มขาวท่านได้ปฏิบัติกิจทางพุทธศาสนาและนักพัฒนาวัดในภาคเหนือตลอดมา เป็นที่ศรัทธาของประชาชนชาวภาคเหนือในนามครูบาขาวปี จนกระทั้งถึงวันนี้ โดยไม่เสื่อมคลาย ทุกปีครบรอบวันมรณกรรมลูกศิษย์ลูกหาจะไปร่วมรำลึกทำบุญนับหมื่นๆคน

ด้านหลังวัดพระพุทธบาทผานาม มีอาคารวิหารอยูบนยอดดอยสูง สามารถชมทัศนียภาพอำเภอลี้รอบทิศทาง เป็นจุดชมวิวเมืองลี้ ที่ใครไปลี้แล้วไม่ได้ขึ้นไปพูดได้ว่าไปไม่ถึงเมืองลี้    เดินทางต่อไปยังวัดพระพุทธบาตรห้วยต้ม อยู่ไม่ห่างไกลนักจากวัดพระบาทผาหนาม เพื่อสักการะสรีระครูบาชัยวงศาในโลงแก้ว ตั้งอยู่ในพระวิหารที่สาธุชนชาว อ.ลี้ สร้างขึ้นมาเป็นที่เก็บสรีระครูบาชัยวงศา  วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม เป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดในอำเภอลี้ เป็นวัดประจำหมู่บ้านชาวปาเกอะญออีก บริเวณทางเข้าวัดจะมีอนุสาวรีย์พระครูบาชัยวงศาตั้งอยู่ วัดพระพุทธบาทห้วยต้มมีบริเวณที่กว้างขวาง เป็นศาสนสถานที่สำคัญ ศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชนห้วยต้ม ภายในมีเอกลักษณ์ที่สวยงามด้วยเอกลักษณ์ล้านนา ทำจากศิลาแลงที่ขุดได้จากบ่อศิลาแลง ด้านหลังของวัด สถานที่สำคัญได้แก่ วิหารพระเมืองแก้ว ที่องค์พระธาตุได้รับการตกแต่งอย่างงดงาม

นอกจากนี้ยังมีสิ่งปลูกสร้างขึ้นมาใหม่คือพระบรมธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย สร้างจำลองจากเจดีย์ชเวดากอง กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา โดยหลวงปู่ครูบาชัยวงศาเป็นผู้ริเริ่มก่อสร้าง เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่และสวยงาม ด้านในพระธาตุจะบรรจุพระพุทธรูปขนาด 9 นิ้ว จำนวน 8,400 องค์     ชื่อพระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัยนี้ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก เป็นผู้ประทานนามให้ เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2538 แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2548 สร้างด้วยศิลาแรงทั้งองค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ 275 ล้านบาท มีพระมหาเจดีย์องค์ใหญ่เป็นองค์ประธานอยู่ตรงกลาง มีความสูงจากพื้นถึงบัวยอดฉัตร 71 เมตร มีฐานกว้าง 1 ไร่ บนยอดฉัตรของเจดีย์ทำด้วยทองคำหนัก 25 กิโลกรัม เป็นพระเจดีย์ประจำปีเกิดของคนเกิดปีมะเมีย และมีพระเจดีย์องค์เล็กอยู่เป็นบริวารล้อมรอบรวม 48 องค์ โดยแบ่งพระเจดีย์องค์เล็ก 10 องค์แรกเป็นเจดีย์ประจำปีเกิด 10 ปีนักษัตร พระเจดีย์องค์เล็ก 28 องค์ หมายถึงพระพุทธเจ้า 28 พระองค์ที่ล่วงมาแล้ว และมีเจดีย์องค์เล็กที่เหลือ 10 องค์ หมายถึงพระพุทธเจ้า 10 องค์ ที่จะมาตรัสรู้ในอนาคต
    ททท.สำนักงานลำปาง จึงแนะเส้นทางนี้เป็นเส้นทางบุญ และเส้นทางท่องเที่ยว เนื่องจากมีพระนักพัฒนาชื่อดังถึง 3 รูป คือครูบาศรีวิชัย อ.บ้านโฮ่ง ครูบาขาวปี และครูบาชัยวงศาพัฒนา อ.ลี้ 2 พระสงฆ์ 1 ห่มขาว ที่ประชาชนชาวล้านนาให้ความศรัทธามาก


     จากอำเภอลี้ จ.ลำพูน ททท.สำนักงานลำปาง พาเดินทางเข้าสู่จังหวัดลำปาง ผ่านเส้นทางสวยงาม อ.ลี้ ลำพูน – อ.เสริมงาม ลำปาง ระหว่างทางแวะดื่มกาแฟ ร้านบ้านโต้งคาเฟ่ ซึ่งร้านตั้งอยู่บนถนน ชายทุ่งนาในเขตอำเภอเสริมงาม บรรยากาศชมนาข้าวที่กำลังเขียวขจี ได้ซิลลๆๆกันทุกคน ค่ำคืนนนี้เข้าพักที่โรงแรม A-Bizz ลำปาง ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากโควิดมากนัก มีแขกพักตลอด เห็นทีมฟุตบอลกว่างโซ้งเชียงราย เดินทางมาอุ่นเครื่องกับทีมเมืองรถม้าลำปาง ก็มาพักที่นี่ด้วย ตามด้วยอาหารค่ำข้าวต้มบาทเดียว ร้านตั้งอยู่ใจกลางเมือง ใช้บ้านไม้เก่าอายุ 110 ปี ทำเป็นร้านข้าวต้ม อะไรจะขนาดนั้นลูกค้าแน่นตรึม คาดว่ารายได้ไม่ต่ำกว่าคืน 4-5 หมื่นบาทขึ้นไป ทั้งที่อยู่ในบรรยากากาศโควิด อย่างนี้ แขกก็ยังมาก คือไม่มีโต๊ะนั่ง หากไม่จองล่วงหน้า เป็นอดได้กิน ไปลำปางแวะทานไม่ผิดหวัง 

  เช้าวันใหม่เมืองรถม้า ททท.สำนักงานลำปาง พาไปไหว้พระ ณ วัดพระธาตุดอยพระฌาน วัดนี้ศาสนสถานสวยงามไม่แพ้ 3-4 วัดที่กล่าวไปแล้ว   ตั้งอยู่ อ.แม่ทะ เดินทาง จากอำเภอเมืองลำปาง ประมาาณ 60 กม.ใช้เส้นทางลำปาง – แม่ทะ ตรงทางแยกบ้านฟ่อน ลำปาง-ตาก หรือเกาะคา เข้าสู่อำเภอแม่ทะ เข้าหมู่บ้านป่าตัน ตำบลป่าตัน อำเภอแม่ทะ เจอทางแยกวัดป่าตันหลวงให้ตรงไป มีป้ายบอกไปวัดตลอดทางหากหลงทางถามชาวบ้านได้ไปถูกแน.   

วัดพระธาตุดอยพระฌาน ตั้งอยู่บนยอดเขาสูง ดอยพระฌาน  สามารถมองเห็นทิวทัศน์และทัศนียภาพที่สวยงามของอำเภอแม่ทะ ได้รอบทิศทาง เช้าของฤดูฝนและฤดูหนาว สภาพอากาศค่อนข้างเย็น เนื่องจากอยู่บนดอยสูง หากดูจากด้านบนยอดดอยจะเห็นทะเลหมอกขาวโพลนปกคลุมไปทั่วภูเขาที่ขึ้นทับซ้อนกันแทบไม่เห็นผืนป่าเขียวขจี ท่ามให้ดูเหมือนยืนเหนือหมอก

    พระธาตุดอยพระฌาน สร้างศิลปะแบบล้านนา ภายในวิหารมีองค์พระธาตุเก่าแก่สีขาวยอดฉัตรสีทองอายุกว่า 100 ปี ประดับอยู่บนแท่น เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวเมืองลำปาง ทุกปีประมาณเดือนพฤษภาคม จะมี “ประเพณีขึ้นดอยพระฌาน” ชาวพุทธตำบลป่าตัน รวมถึงตำบลใกล้เคียง และอำเภอใกล้เคียงพากันเดินขึ้นดอยเพื่อไปสัการะพระธาตุบนยอดเขา พร้อมกับจุดบั้งไฟบูชาพระธาตุและจัดแข่งขันบกทั้งยังจัดงานประเพณีสรงน้ำพระธาตุดอยพระฌาน ในวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 7 ของทุกปี 

     คณะเดินทางกลับเข้าสู่ตัวเมืองลำปางแวะชมสะพานบุญ ขัวแตะ สานด้วยไม้ไผ่พาดผ่านทุ่งนาไปวัดพระธาตุสันดอน ช่วงก่อนโควิดระบาดถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ผู้คนไปเที่ยวจำนวนมากเพื่อไปถ่ายรูปกัน ในตัวเมืองลำปางสักการะวัดเชียงราย เป็นวัดเก่าแก่อายุร้อยกว่าปี แล้วแวะเยี่ยมชมสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานลำปาง  หลังจากนั้นเดินทางกลับจังหวัดเชียงใหม่ โดยแวะชมสะพานขาวทาชมพู อ.แม่ทา จ.ลำพูน เป็นสะพานทางรถไฟข้ามแม่น้ำทา สร้างมาเมื่อ 110 ปีก่อน เป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งของ จ.ลำพูน ที่ ททท.ลำปางส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ก่อนกลับถึงเชียงใหม่แวะตลาดบ้านทาดอยแก้ว ตลาดขึ้นชื่อขายพืชผักของป่าที่ทุกคนผ่านแล้วต้องแวะช้อป


       สรุป 1 คืน 2 วัน ที่ ททท.สำนักงานลำปาง ดูแลจังหวัดลำพูนด้วย พาคณะสื่อมวลชนเชียงใหม่ กรู๊ปนี้ค่อนข้างจะอาวุโส ทัศนศึกษาลำพูน ลำปาง ในเส้นทางลำพูน ป่าซาง-บ้านโฮ่ง-ลี้-เสริมงาม-แม่ทะ-แม่ทา เป็นเส้นทางท่องเที่ยวร้อยโล ร้อยลี้ ที่ประทับใจในฐานะเป็นพุทธศาสนิกชนคนหนึ่ง เป็นเส้นทางที่ชาวพุทธไม่ควรพลาดจะเที่ยวเองก็ได้ หรือให้ ททท.ลำปางจัดเป็นกรู๊ปให้ก็ได้ สอบถามรายละเอียดได้ที่ ททท.สำนักงานลำปาง

.อำนาจ จงยศยิ่ง พูด

แท็ก คำค้นหา