ตั้งเป็นหน้าแรกของคุณ | ADD TO FAVORITES

รูปปเก่า…เล่าใหม่ รางรถไฟประวัติศาสตร์ที่บ้านโฮ่ง

  เมื่อ: วันพุธ, กันยายน 22nd, 2021, หมวด AEC HIGHLIGHTS, ข่าวทั่วไป, ข่าวเด่นวันนี้, วัฒนธรรม, อำนาจ...พูด

วันก่อนได้ไปเยือนเทศบาลตำบลศรีเตี้ย อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูนเพื่อร่วมงานเปิดกิจกรรม คิกออฟ Kick off การจัดเก็บและกำจัดขยะมูลฝอยในตำบลศรีเตี้ย ซึ่งตั้งแต่ก่อตั้งเทศบาลมา มีนายกเทศมนตรีหลายคนแล้ว แต่ไม่มีนายกเทศมนตรีคนใด จัดเก็บขยะเลย ปล่อยให้ชาวบ้านจัดการทิ้งขยะในที่สาธารณะ เช่นตามป่าใกล้บ้าน เมื่อมีนายกเทศมนตรีคนใหม่ จึงจัดระบบจัดเก็บขยะเหมือนเทศบาลทั่วไป โดย นายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน เป็นประธานเปิดกิจกรรม Kick off การจัดเก็บและกำจัดขยะมูลฝอยในตำบลศรีเตี้ย ภายใต้โครงการ “ศรีเตี้ยน่าเยือน บ้านเฮือนน่าอยู่” มี นายประเชิญ สมองดี นายอำเภอบ้านโฮ่ง, นาวาเอกณัฐพงศ์ คชเสนี นายกเทศมนตรีตำบลศรีเตี้ยคนใหม่ เพิ่งทำงานได้ 4 เดือนนำ หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่เทศมนตรีตำบลศรีเตี้ยและ ประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรม

หลังพิธีเปิดงานหรือพิธีปล่อยรถเก็บขยะออกไปเก็บขยะ นาวาเอกณัฐพงศ์ คชเสนี นายกเทศมนตรี เล่าเรื่องทางรถไฟสายประวัติศาสตร์ ให้ผม สินชัย พชรธนาพร และ สวัสดี ทาใจ (ไก่)ฟังว่าพื้นที่ตำบลศรีเตี้ยมี ประวัติความเป็นมาทางรถไฟสายเก่าผ่านตำบลศรีเตี้ย และพาไปชม ทางรถไฟสายประวัติศาสตร์ ที่ยังเหลือร่องรอยให้เห็น แห่งแรก และแห่งเดียวในจังหวัดลำพูน ซึ่งตามประวัติความเป็นมาของทางรถไฟสายนี้ เมื่อประมาณปี พ.ศ.2465 บริษัทบอมเบย์ เบอร์ม่า จากประเทศอังกฤษ ได้รับสัมปทานการทำไม้จากรัฐบาลไทย ในเขตจังหวัดลำพูน โดยได้เข้ามาทำสัมปทานในเขตอำเภอลี้ ซึ่งมีป่าไม้สักทองจำนวนมาก ท่อนใหญ่มหึมาด้วย ลักษณะการทำไม้ของบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า มีการสร้างที่พัก และที่ทำงานกลางป่า ในการทำไม้ของฝรั่งผู้ได้รับสัมปทาน ประกอบด้วย ผู้ดูแล คนงาน ตัดไม้ ช้างงาน ช้างลากท่อนซุงออกจากป่าลึก หรือที่เรียกว่า ปางไม้ ในพื้นที่ อ.ลี้ และบ้านเกาะทุ่งม่าน ตำบลป่าพลู อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน เมื่อตัดไม้สักจากในป่าแล้วใช้ช้างลากลงแม่น้ำลี้ เพื่อมาพักไว้ที่ปางไม้ ซึ่งไม้ที่ตัดมานั้นมีจำนวนมากหลายหมื่นต้น แต่ละต้นกว้างไม่ต่ำกว่า 1 เมตร และบางต้นมีความกว้างมากกว่า 2 เมตร คละเคล้ากัน เมื่อนำไม้ทั้งหมดที่ตัดได้มากองพักไว้ที่ปางไม้แล้ว ทางบริษัทฯ จะต้องรอช่วงฤดูน้ำหลาก เพื่อลำเลียงไม้จากปางไม้ให้ไหลไปตามลำน้ำลี้ และลงแม่น้ำปิง ซึ่งต้องใช้เวลานานในการขนถ่ายในแต่ละครั้งนานเป็นปี หากรอฝนรอน้ำน้ำหลาก จะต้องใช้เวลานานปีละครั้ง ซึ่งก็ยากลำบาก ทางบริษัทฯ จึงสร้างเส้นทางขนย้ายไม้ทางบกขึ้นมาแทน โดยสร้างเส้นทางรถไฟ นำหัวจักรรถไฟมาจากอังกฤษ เมื่อเสร็จ ก็บรรทุกไม้ลำเลียงจากปางไม้บ้านเกาะทุ่งม่าน ผ่านหลายพื้นที่ เช่น บ้านห้วยกาน บ้านศรีเตี้ย ไปลงแม่น้ำสิ้นสุดที่บ้านท่าหลุก อำเภอเวียงหนองล่อง เดิมเรียกปากราง ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตรแล้วขนถ่ายไม้ลงแม่น้ำปิงไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา จนถึงกรุงเทพ ฯ ก่อนนำขึ้นเรือขนาดใหญ่ไปประเทศอังกฤษ เมื่อไม้เริ่มเหลือน้อย และสัมปทานสิ้นสุดลง จึงได้ยุติการทำไม้เมื่อประมาณปี พ.ศ.2475 รวมระยะเวลาการทำไม้ 10 ปี คงหมดป่าว่างั้นเถอะ เหลือทิ้งไว้เพียงตำนานการทำไม้ (สัมปทาน) ในเขตป่าอันอุดมสมบูรณ์ และร่องรอยของทางรถไฟสาย ทำลายป่า (เฮ้ย) เอ่อ สายประวัติศาสตร์แห่งนี้ ปัจจุบันเส้นทางรถไฟที่ใช้ขนไม้ แทบจะไม่เหลือร่องรอยอยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะกลายเป็นถนน หรือเรือกสวนไร่นา ชาวบ้าน จะมีเหลือที่เห็นเป็นร่องรอยอยู่แห่งเดียว ที่บริเวณ”กิ่วคอควาย” ติดกับวัดดอยหลังถ้ำ บ้านศรีเตี้ย หมู่ที่ 3 ตำบลศรีเตี้ย อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน บริเวณดังกล่าวเป็นเนินเขาเล็ก ๆ ที่มีร่องรอยของการเจาะช่องเขาเพื่อให้รถไฟขนไม้สัก ผ่านระยะทางประมาณ 200 เมตร ชาวบ้านเรียกบริเวณนี้ว่า “กิ่วคอควาย”

ในปี พ.ศ.2557 เทศบาลตำบลศรีเตี้ย ได้มีการปรับปรุงทางรถไฟเส้นนี้ เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ของอำเภอบ้านโฮ่ง จึงขอความร่วมมือ ขอไม้หมอน,และ เหล็กรางรถไฟ จาก สถานีรถไฟอำเภอแม่ทา ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มีการปรับปรุงเส้นทางรถไฟ ในภาคเหนือพอดี โดยได้เปลี่ยน จากไม้หมอน เป็นแท่งปูน และ เหล็กรางให้มีความแข็งแรงยิ่งขึ้น จึงเป็นโอกาสดี สำหรับตำบลศรีเตี้ย ที่ได้รับความอนุเคราะห์ ไม้หมอนจำนวน 96 ท่อน และ เหล็กรางจำนวน 8 ท่อน เพื่อนำมาติดตั้ง บริเวณ “กิ่วคอควาย” ซึ่งทางการรถไฟก็ใจดี ส่งช่างมาวางรางให้ได้ตามมาตรฐานรางเก่าอีกด้วย วันนี้ทางเทศบาลศรีเตี้ย ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ความเป็นมาในพื้นที่รถไฟผ่าน และ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของตำบลศรีเตี้ย . ทางรถไฟประวัติศาสตร์ อยู่ตรงกิ่วคอควาย เดิมเป็นดอยสูง ฝรั่งสร้างรางรถไฟ ได้เจาะดอยซึ่งเป็นหินศิลาแลง ขนาดกว้างประมาณ 6 เมตร วางรางกว้างพอให้รถไฟบรรทุกท่อนซุงผ่านไปได้ เมื่อถูกทิ้งไว้หลังหมดสัมปทานป่า วันเวลาผ่านไปชาวบ้านได้รื้อรางเหล็กออกเพื่อนำไปขาย หรือตีเป็นเครื่องมืออื่นๆ ส่วนไม้หมอนผุกร่อนตามกาลเวลา ต่อมาเทศบาลศรีเตี้ยเห็นว่ายังมีร่องรอยทางรถไฟเหลืออยู่ โดยเฉพาะช่องดอยที่เป็นหินสิลาแลงยังปรากฎชัดเจน จึงบูรณะทางรถไฟสาวประวัติศาตร์ของการทำป่าไม้ของฝรั่งในยุคเกือบ 100 ปีก่อน ผ่านไปตำบลศรีเตี้ย อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน อย่าลืมแวะชม ติดถนนสายเมนไม่หาไม่ยาก

อำนาจ จงยศยิ่งรายงาน

#อำเภอบ้านโฮ่ง#เทศบาลตำบลศรีเตี้ย #จังหวัดลำพูน #การรถไฟไทย#จังหวัดลำพูน#รูปเก่าเล่าใหม่#สื่อมวลชนลำพูน#ชมรมรักรถไฟไทย#สำนักข่าวภาคเหนือ

แท็ก คำค้นหา