ความคืบหน้าโครงการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้ว
จังหวัดเชียงใหม่จัดแถลงข่าวเพื่อรายงานความคืบหน้าโครงการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้ว เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2558 เวลา 10.30 น. ชั้น 3 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
1.เพื่อชี้แจงการดำเนินงานที่ผ่านมาของจังหวัดเชียงใหม่เกี่ยวกับการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้ว
2.เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างประชาชนชาวเชียงใหม่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาที่จะดำเนินการต่อไปในอนาคต
3.เพื่อยืนยันถึงความตั้งใจจริงของจังหวัดเชียงใหม่ ในการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้วให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน
โดยได้เชิญส่วนราชการ/หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ สำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานธนารักษ์พื้นที่เชียงใหม่ และเทศบาลนครเชียงใหม่ เพื่อร่วมกันชี้แจงให้ข้อมูลแก่ประชาชนได้รับทราบและเข้าใจตรงกัน
ในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา (ปี พ.ศ.2557-2558) จังหวัดเชียงใหม่ได้มีการดำเนินการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้วอย่างเป็นขั้นตอน และพยายามที่จะสร้างกระบวนการที่ทุกภาคส่วนยอมรับให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดที่มีอยู่ในแต่ละขั้นตอน ตั้งแต่กระบวนการออกแบบเพื่อพัฒนาพื้นที่ให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชนให้มากที่สุด จนสามารถได้มาซึ่งแบบการก่อสร้างจากการประกวดและมีจ้างออกแบบรายละเอียด พร้อมจัดทำรายละเอียดประมาณราคาและรายการประกอบแบบเพื่อพัฒนาพื้นที่ข่วงหลวงเวียงแก้วแล้วเสร็จ ซึ่งจะสามารถให้ดำเนินโครงการภายใต้งบประมาณ 150,000,000 บาท(หนึ่งร้อยห้าสิบล้านบาทถ้วน) ต่อไปได้
ปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่ได้มีการมอบอำนาจให้ส่วนราชการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องเบื้องต้น เพื่อให้สามารถก่อหนี้ผูกพันงบประมาณได้ก่อน คือ
- กิจกรรมการบันทึกจดหมายเหตุการรื้อถอนอาคารเรือนจำเชียงใหม่(หลังเก่า) โดยหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่
- กิจกรรมงานขุดค้นทางโบราณคดี โดยสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่(การสำรวจทางธรณีฟิสิกส์)
สำหรับแนวทางการดำเนินงานในอนาคตนั้น จังหวัดเชียงใหม่ได้มีการหารือร่วมกับส่วนราชการ/หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องเพื่อร่วมกันวางแผน และหาข้อสรุปร่วมกันเพื่อให้เกิดความรอบคอบมากที่สุด และถูกต้องตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย
1.การดำเนินการด้านจดหมายเหตุ โดยหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่ จะมีการจัดเก็บบันทึกภาพและจัดทำผังบริเวณอาคารทุกหลังและสิ่งก่อสร้าง การผลิตภาพยนต์สารคดี การผลิตหนังสือจดหมายเหตุและ E-Book กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับงานจดหมายเหตุ ได้แก่ การรวบรวมข้อมูลเอกสาร/ภาพ จากสาธารณชน กิจกรรมการเสวนา กิจกรรมจัดนิทรรศการ
2.การดำเนินงานทางโบราณคดี เฉพาะการสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ ระยะเวลา 75 วัน โดยสำนักศิลปากรที่ 8 เพื่อวางแผนในการขุดลอกชั้นดินที่ทักถมอาคารโบราณสถานออก
3.การพิจารณาคุณค่าอาคารภายในพื้นที่ข่วงหลวงเวียงแก้ว เพื่อศึกษา วิเคราะห์ และประมาเมินคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม หรือสถาปัตยกรรม ตลอดจนประโยชน์ร่วมกันของสาธารณะ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตของอาคารภายในพื้นที่ข่วงหลวงเวียงแก้ว พร้อมจัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับแนวทางอนุรักษ์และ/หรือรื้อถอนอาคารที่ปลูกสร้างภายในพื้นที่ข่วงหลวงเวียงแก้ว
4.การดำเนินงานทางโบราณคดีในกิจกรรมที่เหลือ โดยสำนักศิลปากรที่ 8 คือ
- การขุดค้นทางโบราณคดีเพื่อศึกษาอายุสมัยของพื้นที่ ระยะเวลา 75 วัน
- การขุดลอกชั้นดินทับถมทางโบราณคดี(ขุดลอกดินที่ทับถมโบราณออก) ระยะเวลา 180 วัน
- การบูรณะแนวกำแพงเวียงแก้วและโบราณสถานศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก ระยะเวลา 150 วัน
5.การดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งสามารถเริ่มดำเนินการได้ในพื้นที่ที่ไม่พบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โดยไม่ต้องรอให้การดำเนินทางโบราณคดีแล้วเสร็จทั้งหมด
ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่ ยินยันว่า จะผลักดันโครงการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้วให้มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุดภายใต้ความถูกต้องและรัดกุมตามหลักกฎหมาย การทำงานอย่างเปิดเผยและมีส่วนร่วมของประชาชน ตลอดจนประโยชน์สูงสุดร่วมกกันของสาธารณะที่จะเกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต
จังหวัดเชียงใหม่ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในวาระการเข้าสู่ 720 ปี แห่งการสถาปนาเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ.2559 ที่จะถึงนี้ โครงการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้วจะเป็นโครงการสำคัญที่ทุกภาคส่วนของจังหวัดเชียงใหม่จะร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมตามเจตนารมณ์ของพี่น้องชาวเชียงใหม่ต่อไป