ตั้งเป็นหน้าแรกของคุณ | ADD TO FAVORITES

ม.แม่โจ้ ประสบความสำเร็จการปลูกและเก็บเกี่ยวกัญชาทางการแพทย์ในระดับอุตสาหกรรม

  เมื่อ: วันจันทร์, มกราคม 6th, 2020, หมวด AEC HIGHLIGHTS, ข่าวเด่นวันนี้

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประสบความสำเร็จจากงานวิจัยในโครงการปลูกและเก็บเกี่ยวกัญชาทางการแพทย์ในระดับอุตสาหกรรม คาดว่าเก็บเกี่ยวได้ผลผลิตดอกกัญชาสดไม่น้อยกว่า 10 ตันวันนี้ (6 ม.ค. 63) รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยถึงโครงการปลูกและเก็บเกี่ยวกัญชาทางการแพทย์ในระบบอินทรีย์ระดับอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัยแม่โจ้  โดยเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2562 นายอนุทิน ชาญวีระกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เดินทางมาเยี่ยมชม และปลูกกัญชาต้นแรก ซึ่งเป็นต้นกัญชาพันธุ์อิสระ 01 ซึ่งได้รับเมล็ดพันธุ์จากกรมการแพทย์ เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่มีสาร CBD และ THC
อยู่ในระดับที่สมดุล ภายในโรงเรือนอัจฉริยะ ฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.อานัฐ ตันโช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า กัญชาเป็นพืชที่มีกลิ่นหอมดึงดูดแมลงได้ดี มีผลต่อการเกิดโรคพืชได้ ส่วนใหญ่ต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปริมาณมากและบ่อยครั้ง ซึ่งจะทำให้กัญชามีสารเคมีตกค้าง ส่งผลต่อการนำไปใช้ทางการแพทย์ 


จึงจำเป็นต้องปลูกในระบบอินทรีย์ โดยเริ่มจากการเพาะเมล็ดซึ่งใช้นวัตกรรมวัสดุปลูก และเทคนิคการเพาะเมล็ดที่ทำให้เมล็ดงอกภายในระยะเวลาสั้น และเริ่มนำต้นกล้าปลูกในวัสดุปลูก ในโรงเรือนขนาด 3,040 ตารางเมตร ปลูกระยะชิดได้จำนวน 12,000 ต้น ภายใต้การควบคุมอย่างใกล้ชิด และใช้นวัตกรรมที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ทั้งวัสดุปลูก การให้น้ำและสารอาหารอินทรีย์ การควบคุมอุณหภูมิ ความชื้นและแสง รวมทั้งการกำจัดศัตรูพืช ขณะนี้ต้นกัญชามีความสมบูรณ์เต็มที่ออกดอกประมาณ 8 ช่อต่อ 1 ต้น พร้อมให้เก็บเกี่ยวซึ่งหลังการเก็บเกี่ยวจะได้ผลผลิตดอกกัญชาสดไม่น้อยกว่า 10,000 กิโลกรัม หรือ 10 ตัน เพื่อส่งมอบให้กรมการแพทย์และองค์การเภสัชกรรม ซึ่ง นายอนุทิน ชาญวีระกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะเดินทางมาตัดช่อกัญชาช่อแรกที่ฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในวันที่ 15 มกราคมนี้ นับเป็นผลงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จในระดับชาติ จากโครงการปลูกและเก็บเกี่ยวกัญชาทางการแพทย์ 12,000 ต้น ในระบบอินทรีย์ระดับอุตสาหกรรมครั้งแรกของประเทศไทย


แท็ก คำค้นหา