ศูนย์ฝนหลวงฯ ภาคเหนือ สาธิตการทำฝนเมฆอุ่นให้แก่คณะผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2561 เวลา 10.00 น. คณะผู้เข้าร่วมการประชุม “ASEAN Workshop on Weather Modification 2018” ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการดัดแปรสภาพอากาศ อุตุนิยมวิทยาจากต่างประเทศ ประกอบด้วย สาธารณรัฐ ประชาชนจีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เมียนมา และองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization : WMO)ได้เข้าศึกษาและร่วมสังเกตการณ์ดูงานด้านการปฏิบัติการ ฝนหลวง ณ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ และวันที่ 9 สิงหาคม 2561 เข้าศึกษาดูงานและร่วม รับฟังบรรยายสรุป ณ ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดําริ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม เชิงปฏิบัติการด้านการดัดแปรสภาพอากาศระดับภูมิภาคอาเซียน ประจำปี 2561 ระหว่างวันที่ 6 – 9 สิงหาคม 2561
ด้าน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า การจัดประชุมครั้งนี้ ได้นำคณะผู้เข้าร่วมการประชุมเข้าศึกษาและร่วมสังเกตการณ์การปฏิบัติการทำฝน ที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งรับผิดชอบปฏิบัติการในพื้นที่ 15 จังหวัดทางภาคเหนือ ประกอบด้วย จังหวัด กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สุโขทัย และอุตรดิตถ์ โดยปฏิบัติงานช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนน้ำในพื้นที่การเกษตร ป่าไม้ เขื่อนเก็บกักน้ำ บรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า การเกิดพายุลูกเห็บ ตลอดจน ภัยแล้งและภัยพิบัติอื่นๆ ในพื้นที่ที่เกิดขึ้น โดยได้ดำเนินตามศาสตร์พระราชาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา ภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงเน้นถึงความจำเป็นในด้านพัฒนาการและการดำเนินการปรับปรุงวิธีการทำฝน ในแนวทางของการออกแบบปฏิบัติการ การติดตามและการประเมินผลที่มีลักษณะเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น โดยการดัดแปรสภาพอากาศหรือการทำฝนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอันหนึ่งในกระบวนการจัดการ ทรัพยากรน้ำ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้ทรงวิเคราะห์กรรมวิธีที่จะทำฝนหลวง ว่ามีขั้นตอนที่สามารถเข้าใจกันได้ง่าย 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 ก่อกวน ขั้นตอนที่ 2 เลี้ยงให้อ้วน และ ขั้นตอนที่ 3 โจมตี