เชียงใหม่ทำพิธีถวายเทียนพรรษาพระราชทานและพิธีเวียนเทียน เนื่องในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา
เชียงใหม่ทำพิธีถวายเทียนพรรษาพระราชทานและพิธีเวียนเทียน เนื่องในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา
ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ถวายเทียนพรรษาพระราชทาน ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พร้อมนำหัวหน้าส่วนราชการ และประชาชน ร่วมกันเวียนเทียน เนื่องในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา
เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2560 ที่วัดเจดีย์หลวง วรวิหาร ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีถวายเทียนพรรษาพระราชทานในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เนื่องในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ประจำปีพุทธศักราช 2560 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เป็นพระมหากษัตริย์ไทย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์
ด้วยทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานเทียนพรรษา เนื่องในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาแก่วัดต่างๆ ทั่วประเทศ โดยมูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ฯ ร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ดำเนินการจัดโครงการ “หนึ่งใจ…ให้ธรรมะ” มอบเทียนพรรษาพระราชทานให้จังหวัดเชียงใหม่ ได้อัญเชิญไปถวาย ณ วัดเจดีย์หลวง วรวิหาร ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกันนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ยังได้นำหัวหน้าส่วนราชการ พุทธศาสนิกชนชาวเชียงใหม่ ร่วมประกอบพิธีเวียนเทียน เนื่องในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา
ทั้งนี้ วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 เป็นวันที่มีพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ครบเป็นองค์รัตนตรัยครั้งแรกในโลก ซึ่งพระสงฆ์องค์แรกคือ พระอัญญาโกณฑัญญะ และปฐมเทศนาที่ทรงแสดงคือ ธรรมจักกัปวัตนสูตร หมายถึง พระสูตรว่าด้วยการยังธรรมจักรให้เป็นไป นั่นคือ ธรรมะของพระพุทธองค์เหมือนวงล้อธรรมที่ได้เริ่มเคลื่อนแล้วจากจุดเริ่มต้นในวันนี้
ในส่วนของ วันเข้าพรรษา เป็นวันเริ่มต้นที่พระภิกษุสงฆ์จะต้องอธิษฐานจำพรรษาอยู่กับที่ ไม่เที่ยวจาริกไปยังที่ต่าง ๆ เป็นเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 8 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ของทุกปี ซึ่งการให้จำพรรษาในสมัยพุทธกาล ก็เพื่อป้องกันมิให้พระสงฆ์ไปเหยียบย่ำข้าว และพืชผลของชาวบ้านเสียหาย ต่อมาถือเป็นโอกาสดีที่พระภิกษุจะได้มาอยู่ร่วมกันเพื่อศึกษาธรรมะ ส่วนชาวบ้านก็ได้เข้าวัดถวายทาน รักษาศีล ฟังธรรม และเจริญภาวนาเพื่อเพิ่มพูนบุญกุศลโดยมีพระภิกษุเป็นแบบอย่าง ครั้นต่อมาจึงเกิดประเพณีนิยมบวช 3 เดือน ขณะเดียวกัน ก็มีพุทธศาสนิกชนจำนวนหนึ่งนิยมถือเอาวันเข้าพรรษาเป็นวันเริ่ม ต้นที่จะอธิฐานจิตลด ละ ความชั่วทั้งหลาย และทำความดีเพิ่มขึ้น