ตั้งเป็นหน้าแรกของคุณ | ADD TO FAVORITES

เตรียมปักหมุดไทยเป็นจุดเชื่อมต่อเครือข่ายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

  เมื่อ: วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 29th, 2018, หมวด AEC HIGHLIGHTS, การศึกษา, เทคโนโลยี

เตรียมปักหมุดไทยเป็นจุดเชื่อมต่อเครือข่ายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Yebes Radio Telescope Spain กล้องโทรทรรศน์วิทยุต้นแบบ VLBIMap

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์การอบรมดาราศาสตร์นานาชาติภายใต้ยูเนสโก (ITCA) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเทคโนโลยีเครือข่ายการแทรกสอดระยะไกลของกล้องโทรทรรศน์วิทยุนานาชาติครั้งที่ 7 (The 7th International VLBI Technology Workshop, IVTW2018) ณ อ่าวนาง จังหวัดกระบี่ เมื่อวันที่ 12-15 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา ระดมผู้เชี่ยวชาญ นักดาราศาสตร์ และวิศวกร เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุสากล (VLBI) ทั่วโลกกว่าห้าสิบคน บูรณาการแผนวิจัยด้านเทคโนโลยีดาราศาสตร์วิทยุระดับนานาชาติ  พร้อมเตรียมวางแผนเชื่อมต่อกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติและหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติร่วมเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์แทรกสอดระยะไกลในอนาคต

1543460420506_สดรระดมเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุ02 1543460400566_สดรระดมเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุ01

ดร.พฤทธิ์ เจริญจิตติชัย นักวิจัย สดร. และ หัวหน้าโครงการพัฒนาเครือข่ายดาราศาสตร์วิทยุและยีออเดซี   กล่าวว่า  การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเชื่อมโยงงานวิจัยระดับโลกในหลากหลายสาขาในด้านดาราศาสตร์วิทยุและเทคโนโลยีให้เป็นแผนภาพร่วมกัน มีผู้แทนจากสถาบันดาราศาสตร์ที่มีชื่อเสียงกว่า 8 แห่งทั่วโลกเข้าร่วม อาทิ สถาบันดาราศาสตร์วิทยุแห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ (ASTRON) สถาบันดาราศาสตร์วิทยุแมกซ์แพลงค์ในประเทศเยอรมัน (MPIfR) องค์การเครือจักรภพวิทยาศาสตร์และการวิจัยอุตสาหกรรม (CSIRO) สถาบันร่วมเครือข่ายการแทรกสอดระยะไกลของกล้องโทรทรรศน์วิทยุยุโรป (JIVE)  สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติญี่ปุ่น (NAOJ) สถาบันดาราศาสตร์และอวกาศเกาหลี (KASI) หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์เซี่ยงไฮ้ (Shanghai Astronomical Observatory) และ หอสังเกตการณ์อวกาศออนซาลา (Onsala Space Observatory) ร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในประเด็นหลัก ได้แก่ “เครือข่ายและการสังเกตการณ์” “Software Correlators” “Universal Backends” รวมไปถึง “เทคนิคและการวิเคราะห์ข้อมูล” โดยมีหัวข้อย่อย ได้แก่ “วิสัยทัศน์แห่งอนาคตของเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุยุโรป (European VLBI) และโครงการ JIVE” “ศักยภาพและความคืบหน้าของโครงการพัฒนาเครือข่ายดาราศาสตร์วิทยุและยีออเดซี (RANGD) ของ สดร.” และ “การพัฒนาเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุในออสเตรเลีย” ฯลฯ

สดรระดมเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุ03

ดร.พฤทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน สดร.กำลังดำเนินการก่อสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักของประเทศในการพัฒนาองค์ความรู้ดาราศาสตร์วิทยุ ฟิสิกส์บรรยากาศ รวมถึงด้านธรณีวิทยาและการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก ตัวโครงการตั้งอยู่ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ บนพื้นที่กว่า 50 ไร่ เป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุตัวแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะเป็นจุดเชื่อมเครือข่ายการแทรกสอดระยะไกลของกล้องโทรทรรศน์วิทยุใกล้เคียง เพื่อเติมเต็มความสมบูรณ์ของเครือข่ายดาราศาสตร์วิทยุและยีออเดซี เช่น เอเชียตะวันออก ออสเตรเลีย ยุโรป (EAVN) และเครือข่ายในเอเชียตะวันออกและออสเตรเลีย (AOV) ต่อไป สดร.จึงมุ่งมั่นเชื่อมต่อเครือข่ายเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุไทยกับเครือข่ายระดับภูมิภาคและนานาชาติที่มีอยู่ ตลอดจนขยายเครือข่ายในอนาคตอันใกล้ เพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศอย่างยั่งยืน

 

แท็ก คำค้นหา