เตือนระวังอันตรายกินหน่อไม้ดองปิ๊บ ถึงตายได้
การเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคอาหารเป็นพิษโบทูลิซึม (Botulism)
ลักษณะโรค:
– เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากสารพิษที่รุนแรง โดยรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเข้าไป ลักษณะอาการที่สำคัญจะเกิดกับระบบประสาทของร่างกาย ได้แก่ หนังตาตก การมองเห็นไม่ชัด หรือเห็นเป็นสองภาพ ปากแห้ง และเจ็บคอ เป็นอาการนำ อาการเหล่านี้อาจจะตามมาด้วยอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อสองข้างเท่ากัน ในผู้ป่วยที่ยังรู้สติดี อาจพบอาการอาเจียนและท้องเดินในระยะแรกของโรค มักไม่มีไข้ ยกเว้นในรายที่มีการติดเชื้อแทรกซ้อน ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยจะเสียชีวิตในเวลา 3 – 7 วัน หลังจากเริ่มมีอาการ จากการหายใจล้มเหลวหรือการติดเชื้อแทรกซ้อน การรักษาด้วยการช่วยหายใจและให้สารต้านพิษโดยเฉพาะ จะช่วยลดอัตราป่วยตายในระยะที่หาย การฟื้นตัวจะค่อนข้างช้า (เป็นเดือนหรือในบางรายเป็นปี) การวินิจฉัยกระทำได้โดยตรวจพบสารพิษเฉพาะในน้ำเหลืองหรืออุจจาระของผู้ป่วยหรือการเพาะเชื้อพบ คลอสตริเดี่ยม โบทูลินั่ม (Clostridium botulinum) การตรวจพบเชื้อในอาหารที่สงสัย อาจไม่ช่วยในการวินิจฉัย เนื่องจากสปอร์ของเชื้อนี้ตรวจพบได้จากสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นการตรวจพบสารพิษจึงสำคัญกว่า
เชื้อคลอสทรีเดียม โบทูลินัม พบทั่วไปในธรรมชาติ พืชผักที่ปลูกในดิน โดยเชื้อทนความแห้งแล้งได้ดี และปะปนกับอาหารแห้ง เช่น เครื่องเทศแป้ง เป็นต้น เชื้อโรคจะปล่อยสารพิษโบทูลินัม ที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค โรคพิษโบทูลิซึมพบได้ประปรายทั่วโลก สำหรับประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดจากการรับประทานหน่อไม้อัดปี๊บที่ไม่ได้ต้ม หรือหน่อไม้ต้มบรรจุถุงพลาสติกที่ชาวบ้านเรียกว่า หน่อไม้ซิ่ง มีรายงานครั้งแรกปี 2541 ที่จังหวัดน่าน ผู้ป่วย 13 ราย เสียชีวิต 2 ราย พบประปรายบางปี โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง จึงขอย้ำเตือนประชาชนที่นิยมบริโภคหน่อไม้ต้มอัดปี๊บหรือบรรจุในถุงพลาสติก โดยเฉพาะเมนูที่ใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริกหรือใช้ตำ เช่น ใส่ผสมรวมในส้มตำ ซุปหน่อไม้ เป็นต้น ก่อนนำมาบริโภคทุกครั้งขอให้นำมาต้มซ้ำในน้ำให้เดือดนาน 15 นาที เพื่อให้ความร้อนทำลายเชื้อโรคทุกชนิดที่ปนเปื้อน หากพบปี๊บที่บรรจุหน่อไม้บวมไม่ควรซื้อมาบริโภค ในกรณีที่พบมีกลิ่นหรือสีผิดปกติ ไม่ควรนำมารับประทานหรือลองชิม ขอให้นำไปทำลายทิ้งโดยการฝังดิน
เชื้อคลอสทรีเดียมโบทูลินัม มีทั้งหมด 4 ชนิด คือ (1. ชนิดเอ มีพิษรุนแรง อัตราการตายสูงถึงร้อยละ 60-70 (2. ชนิดบี ทนความร้อนสูง มีชีวิตอยู่ในอาหารนานกว่าชนิดอื่น อัตราการตายร้อยละ 25 (3. ชนิดอี พบในอาหารทะเล (4. ชนิดเอฟ พบในอาหารทะเล มีอัตราการตายต่ำ อย่างไรก็ดี สารพิษเหล่านี้ทำลายได้ง่ายโดยการต้มให้เดือดนาน 15 นาที
สถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 17 เมษายน 2561 พบผู้ป่วย 39,254 ราย จาก 77 จังหวัด คิดเป็นอัตราป่วย 60 ต่อประชากรแสนคน ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 15 -24 ปี รองลงมา 25 – 34 ปี และ 45 – 54 ปี ตามลำดับ จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ลำพูน อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด ขอนแก่นและมหาสารคาม และวันที่ 20 เมษายน 2561 พบผู้ป่วย 1 ราย
คำแนะนำสำหรับประชาชนในการบริโภคอาหาร/อาหารกระป๋องเพื่อป้องกันโรคอาหารเป็นพิษโบทูลิซึม (Botulism)
1. เลือกซื้ออาหารโดยเฉพาะอาหารกระป๋อง ที่มีเครื่องหมาย อย.
2. หลีกเลี่ยงการกินอาหารบรรจุกระป๋อง ปี๊บ หรือขวดแก้วที่ผลิตแบบอุตสาหกรรมในครัวเรือนอย่างไม่ถูกกรรมวิธี หรือดูแลไม่สะอาดปลอดภัย
3. การหมักดองอาหาร ได้แก่ ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์และเนื้อปลาต่างๆควรปฏิบัติให้ถูกสุขลักษณะอาหารปลอดภัย เช่น หน่อไม้ปิ๊บปรับกรดและหน่อไม้ต้ม เป็นต้น
4. อาหารต่างๆ โดยเฉพาะหน่อไม้ หากมีกลิ่นหรือสีผิดปกติ ไม่ควรนำมารับประทานหรือลองชิมอย่างเด็ดขาด ให้นำไปทำลายโดยการฝังดินให้ลึก เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์กินเข้าไป ภาชนะที่ปนเปื้อนอาจต้มหรือแช่คลอรีน เพื่อทำลายสารพิษ
5. การรับประทานอาหารที่บรรจุในภาชนะมิดชิด โยเฉพาะหน่อไม้ต้มอัดปิ๊บหรือบรรจุในถุงพลาสติก ที่รับประทานแบบผักลวกจิ้มน้ำพริก ใส่ผสมส้มตำ และซุปหน่อไม้ให้นำไปต้มในน้ำเดือดอุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส นานอย่างน้อย 15 นาที เพื่อทำลายพิษที่อาจปนเปื้อนอยู่ในอาหาร
6. หากต้องการเก็บอาหารที่ทานเหลือ ควรเก็บไว้ในตู้เย็น และก่อนทานควรอุ่นให้ร้อน
7. หากรับประทานอาหารที่สงสัยจะมีการปนเปื้อนสารพิษโบทูลิซึมและมีอาการผิดปกติ เช่น มีอาการอ่อนแรง วิงเวียนศีรษะ ตาพร่ามัว หนังตาตก ปากแห้ง กลืนหรือพูดลำบาก ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับยาโบทูลินั่มแอนตี้ท็อกซิน (Botulinum Anti-toxin)
ทั้งนี้หากมีข้อสงสัย สามารถโทรสอบถามได้ที่ สำนักโรคติดต่อทั่วไป โทร. 0-2590-3180
หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
……สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ กรมควบคุมโรครักและห่วงใย ปี้น้องหมู่เฮาครับ
7 เมษายน 2561…..
ที่มา:
1. หนังสือที่ สธ 0422.7/ว1147 ด่วนที่สุด ลงวันที่ 30 เมษายน 2561 เรื่อง ขอคงวามร่วมมือดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคอาหารเป็นพิษจากหน่อไม้
2. http://www.boe.moph.go.th/fact/Botulism.htm เข้าถึงเมื่อ วันที่ 7 พฤษภาคม 2561
3. http://www.tnews.co.th/contents/401562 เข้าถึงเมื่อ วันที่ 7 พฤษภาคม 2561