เผย 8 องค์กร ทั้งนายกกำนัน-ผญบ.แห่งประเทศไทย สมาคมกำนัน-ผญบ.เชียงใหม่ ร่วมกับภาคีเครือข่ายชาวพุทธในเชียงใหม่ ลงนามตกลงร่วมมือประกาศให้ “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำจังหวัดเชียงใหม่

เผย 8 องค์กร ทั้งนายกกำนัน-ผญบ.แห่งประเทศไทย สมาคมกำนัน-ผญบ.เชียงใหม่ ร่วมกับภาคีเครือข่ายชาวพุทธในเชียงใหม่ ลงนามตกลงร่วมมือประกาศให้ “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำจังหวัดเชียงใหม่” พระครูเลขาศูนย์เผยแผ่ธรรมจังหวัด ย้ำเหตุเพื่อรักษาพระศาสนาให้อยู่คู่กับเมืองไทย เมื่อเสนอให้บรรจุไว้ใน รธน.ไม่ได้ก็ขอเป็นศาสนาประจำจังหวัด ขณะเดียวกันยังเผยแพร่คำทำนายปีนี้จะเกิดเหตุวุ่นวาย พายุถล่ม น้ำท่วมน้ำนอง ขอให้ตั้งสติดีๆ เพื่อจะรับมือกับภัยพิบัติ–
-เมื่อบ่ายวันที่ 4 มีนาคม 2563 เวลา 14.00 น. ที่วัดพันอ้น ถ.ราชดำเนิน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ มีการประชุมลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือประกาศให้ “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำจังหวัดเชียงใหม่” ประกอบด้วยภาคีเครือข่าย 8 องค์กร คือ 1.นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย 2.สมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านจังหวัดเชียงใหม่ 3. กลุ่มพลังชาวพุทธพิทักษ์พระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่ 4.พุทธสมาคมจังหวัดเชียงใหม่ 5.ยุวพุทธิกสมาคมจังหวัดเชียงใหม่ 6.กลุ่มหนุ่มสาวจังหวัดเชียงใหม่ 7.สมาคมสหธรรมเชียงใหม่ และ 8.สมาพันธ์ชาวพุทธจังหวัดเชียงใหม่
วัตถุประสงค์เพื่อช่วยกันปกป้องคุ้มครองให้พระพุทธศาสนาสืบทอดไปจนถึงชั่วลูกหลานเหลนตลอดไป–การทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน ว่าด้วยเรื่องการประกาศให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำจังหวัดเชียงใหม่ ที่ประชุมให้เหตุผลว่า เป็นเพราะจังหวัดเชียงใหม่ มีวัด และสำนักสงฆ์ที่พักสงฆ์ มากกว่า 1,708 แห่ง ประชาชนมากกว่าร้อยละ 90 นับถือพระพุทธศาสนา มีวัฒนธรรมและประเพณีที่งดงามแบบล้านนา มีผู้คนทั่วโลกเดินทางมาท่องเที่ยว เพื่อชื่นชมสิ่งที่ดีงามของบ้านเมืองตามคำขวัญว่า “ดอยสุเทพเป็นศรี ประเพณีเป็นสง่า บุปผชาติล้วนงามตา นามล้ำค่านครพิงค์” ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่ยังเคยเป็นสถานที่สังคายนาพระพุทธศาสนา ครั้งที่ 8 ของโลกเมื่อปีพุทธศักราช 2020 ณ วัดโพธาราม หรือวัดเจ็ดยอด พระอารามหลวงในปัจจุบัน และเป็นเมืองที่มีความสงบร่มเย็นประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกมาโดย ตลอด 723 ปี
ในนามองค์กร ทั้ง 8 องค์กร มีความเข้าใจร่วมกันเป็นอย่างดี จึงร่วมกันทำบันทึกข้อตกลง ดังนี้ 1.ให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำจังหวัดเชียงใหม่ เพราะเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวจังหวัดเชียงใหม่ส่วนใหญ่นับถือ 2.การสร้างศาสนสถาน หรือสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอื่นในชุมชน หมู่บ้าน หรือตำบลใด ๆ เพิ่มเติมในจังหวัดเชียงใหม่ ต้องได้รับความเห็นชอบ ผ่านการจัดทำประชาพิจารณ์จากชุมชนและท้องถิ่นนั้นๆก่อน 4.ในนามองค์กรทั้ง 8 องค์กร จะร่วมกันรณรงค์ชี้แจง ให้ประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ ได้เข้าใจถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนา ที่ชาวพุทธเชียงใหม่ทุกคนต้องรักหวงแหนและเทิดทูนให้เป็นศาสนาประจำจังหวัดเชียงใหม่ต่อไป–ท้ายของบันทึกข้อตกลง มีผู้ร่วมลงนาม ประกอบด้วย นายยงยศ แก้วเขียว นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย, นายกมลศิษฐ์ โรจน์ธนวิภัช ที่ปรึกษาสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย นายอุ่นเรือน คำภิโล นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านจังหวัดเชียงใหม่ พระครูอมรธรรมทัต ประธานกลุ่มพลังชาวพุทธจังหวัดเชียงใหม่ นางพรรณี บุญประเสริฐ นายกพุทธสมาคมจังหวัดเชียงใหม่ นายมานิตย์ ขันธสีมา นายกยุวพุทธิกสมาคมจังหวัดเชียงใหม่ รศ.พิเศษถาวร เสาร์ศรีจันทร์ นายกสมาคมสหธรรมเชียงใหม่ นายอาณัติ เจริญพันธ์ ประธานกลุ่มหนุ่มสาวจังหวัดเชียงใหม่ และ ผศ.ดร.อภิรมย์ สีดาคำ ประธานสมาพันธ์ชาวพุทธจังหวัดเชียงใหม่–