60 พรรษา เจ้าฟ้านักดาราศาสตร์ ปีแรกแจกครบแล้ว 60 กล้องโทรทรรศน์ และสื่อเรียนรู้ดาราศาสตร์
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มอบกล้องโทรทรรศน์และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ พร้อมอบรมการใช้งาน ให้ 60 โรงเรียนทั่วประเทศ ตามเป้าหมายโครงการเทิดพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยืนยันครบ 77 จังหวัดกว่า 300 โรงเรียนในอีก 3 ปี
ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า ในปีแรกของโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ “77 จังหวัดเปิดฟ้าส่องโลกดาราศาสตร์ เปิดโอกาสเรียนรู้ทั่วหล้า” ได้คัดเลือกโรงเรียนจากทั่วประเทศเพื่อรับมอบกล้องโทรทรรศน์ และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ชุดใหญ่ สำหรับจัดการเรียนการสอน กิจกรรมทางดาราศาสตร์ และสังเกตการณ์ท้องฟ้า ภายในโรงเรียนและชุมชนรอบข้าง มุ่งสร้างเครือข่ายการเรียนรู้และพัฒนาองค์ความรู้ดาราศาสตร์ให้ทั่วถึงและทัดเทียมกันทั่วประเทศ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “60 พรรษา เจ้าฟ้านักดาราศาสตร์” ตั้งเป้ามอบกล้องโทรทรรศน์ 60 ตัวในปี 2558 ส่งมอบรอบแรก 35 โรงเรียน จาก 27 จังหวัด เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2558 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี และครั้งนี้เป็นรอบที่ 2 อีก 25 โรงเรียน จาก 21 จังหวัด รวมเป็น 60 โรงเรียน 48 จังหวัด
สดร.จัดพิธีมอบกล้องโทรทรรศน์และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์พร้อมอบรมเชิงปฏิบัติการ ระหว่างวันที่ 28-30 สิงหาคม 2558 ณ อาคารอิมแพ็คฟอรัม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็คเมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และจะดำเนินการต่อเนื่องให้ครบ 77 จังหวัด ภายในปี 2561
กล้องโทรทรรศน์ที่นำมามอบให้แก่โรงเรียนในโครงการนี้ เป็นกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงแบบดอปโซเนียน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 นิ้ว ออกแบบและพัฒนาโดยคณะนักวิชาการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติและผู้ผลิตกล้องโทรทรรศน์ ผลิตในประเทศไทย ต้นทุนต่ำ ประสิทธิภาพสูง เทียบกับกล้องโทรทรรศน์ประเภทเดียวกันที่นำเข้าจากต่างประเทศ สื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ ประกอบด้วย ร่มลายแผนที่ดาว โปสเตอร์ชุดความรู้เกี่ยวกับระบบสุริยะ หนังสือความรู้ดาราศาสตร์ โมเดลดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ ฯลฯ ผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรก ประสบความสำเร็จน่าพอใจ หลายโรงเรียนสามารถต่อยอดจัดกิจกรรมดาราศาสตร์ภายในโรงเรียนและชุมชนอย่างต่อเนื่อง ปีนี้ สดร. เพิ่มช่องทางสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์สำหรับครูในโครงการฯ สร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างสดร.กับโรงเรียนอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับอนาคตของวงการดาราศาสตร์ไทย คือ การพัฒนากำลังคนด้านดาราศาสตร์ กล้องโทรทรรศน์จึงเป็นอุปกรณ์ที่เปรียบเสมือนหน้าต่างสู่โลกดาราศาสตร์ เพื่อให้เยาวชนได้สังเกต ค้นคว้า ทดลอง เริ่มต้นจากระดับโรงเรียน ชุมชน มหาวิทยาลัย สดร. ได้ริเริ่มโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ “77 จังหวัด เปิดฟ้าส่องโลกดาราศาสตร์ เปิดโอกาสเรียนรู้ทั่วหล้า” เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 ด้วยทรงตระหนักเห็นคุณค่าของการสร้างชาติด้วยวิทยาศาสตร์โดยการให้นำดาราศาสตร์ซึ่งเป็นศาสตร์พื้นฐานแรก ๆ ของวิทยาศาสตร์เข้ามาเป็นสื่อในการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ สนับสนุนส่งเสริมเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มีกระบวนการคิดเป็นเหตุเป็นผลแบบวิทยาศาสตร์กระจายไปทุกพื้นที่ในประเทศ จึงเกิดเป็นโครงการนี้ขึ้น โครงการดังกล่าวไม่เพียงแต่เป็นการรับมอบกล้องโทรทรรศน์ฯ และสื่อการเรียนรู้เพื่อใช้ในการเรียนการสอนและการจัดกิจกรรมเท่านั้น แต่ถือเป็นพันธกิจสำคัญของพวกเราที่จะสนองพระราชปณิธาน ร่วมกันกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ให้แก่สังคม มุ่งจุดประกายให้นักเรียนหันมาสนใจเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น
สำหรับกิจกรรมในโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ ในปีต่อ ๆไปยังไม่หยุดแค่การมอบกล้องโทรทรรศน์และสื่อดาราศาสตร์เท่านั้น สดร. ยังมุ่งมั่นที่จะนำดาราศาสตร์ให้เข้าถึงเยาวชน และประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศ อย่างทั่วถึง และเท่าเทียม ปัจจุบันเรากำลังวางแผนจัดทำ “มุมดาราศาสตร์ในโรงเรียน (Astro Corner in School)” สนับสนุนชุดเรียนรู้ดาราศาสตร์พื้นฐานให้ห้องสมุดโรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อเสริมสร้างทักษะ กระตุ้นการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ กระจายโอกาสแก่นักเรียนอีกด้วย คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2559 รศ.บุญรักษา กล่าวปิดท้าย
นางฮัซนะห์ ปัตนกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมศึกษาวิทยา จังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า ดีใจมากที่โรงเรียนได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการนี้ เราเป็นโรงเรียนเอกชนสอนภาษาอิสลามตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยม กล้องโทรทรรศน์และสื่อดาราศาสตร์ต่าง ๆ ที่โรงเรียนได้รับจะนำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนดาราศาสตร์สำหรับเด็กประถมและจัดกิจกรรมของชมรมดาราศาสตร์ และที่สำคัญยังสามารถใช้ประโยชน์ในการดูดวงจันทร์เสี้ยวในช่วงถือศีลอดซึ่งมีความจำเป็นมาก นอกจากนี้ทางโรงเรียนยังมีความร่วมมือกับชุมชนในละแวกใกล้เคียง มีโรงเรียนอยู่ในหมู่บ้านและมีโต๊ะอิหม่ามอยู่ในโรงเรียน ซึ่งสามารถนำไปจัดกิจกรรมสังเกตปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ต่าง ๆ ภายในชุมชนได้อีกด้วย
อาจารย์พรรณพร บุญทศ โรงเรียนยโสธรพิทยาคม จังหวัดยโสธร เปิดเผยว่า ดีใจมากที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ ขอบคุณ สดร. ที่ให้โอกาสและมอบกล้องโทรทรรศน์และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ให้กับทางโรงเรียน เพราะสื่อทางดาราศาสตร์เป็นเครื่องมือที่สำคัญ ที่จะใช้จัดกิจกรรมการเรียนการสอน ทำกิจกรรม สร้างแรงบันดาลใจทางดาราศาสตร์ ให้เด็กเกิดความตระหนัก อยากรู้ อยากเห็น เมื่อก่อนดาราศาสตร์เป็นเรื่องไกลตัว แต่เมื่อได้เครื่องมือมา ทำให้สิ่งที่ไกลตัว และเด็กเห็นว่าเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นน่าสนใจมากขึ้น อุปกรณ์สื่อดาราศาสตร์ที่ได้รับจากโครงการฯ จะนำไปใช้ในการเรียนการสอน ชุมนุม ชมรมดาราศาสตร์ ตามปกติแล้วช่วงปลายปีที่โรงเรียนจัดค่าย “เปิดฟ้าพาน้องดูดาว” เรามีกล้องโทรทรรศน์ตัวเดียว และขาดแคลนสื่อดาราศาสตร์อื่น ๆ ในขณะที่มีเด็กที่สนใจมากขึ้นไม่เพียงพอต่อความต้องการ เมื่อมีโอกาสได้เข้าร่วมโครงการนี้ จึงดีใจแทนเด็ก ๆและจะนำแนวทางที่ได้อบรมการใช้งานกล้องโทรทรรศน์ฯ ครั้งนี้ไปใช้ในการจัดกิจกรรมดาราศาสตร์ เด็กบางคนไม่เคยดูดาวผ่านกล้องโทรทรรศน์ เมื่อเด็กได้สัมผัสกับอุปกรณ์จริง ยิ่งเพิ่มความสนใจมากขึ้นตื่นเต้นมากกว่าการเรียนจากหนังสืออย่างเดียว