ตั้งเป็นหน้าแรกของคุณ | ADD TO FAVORITES

ผู้ว่าชัยยา พูนศิริวงศ์ ผู้สร้างอนุสาวรีย์สามกษัตริย์และประตูท่าแพ

  เมื่อ: วันอาทิตย์, มิถุนายน 18th, 2017, หมวด COVID-19

ผู้ว่าชัยยา พูนศิริวงศ์
ผู้สร้างอนุสาวรีย์สามกษัตริย์และประตูท่าแพ

S_6259807178024

นายชัยยา พูนศิริวงศ์ เดินทางมารับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2523 ต่อจากนายประเทือง สินธิพงษ์ ผู้ว่าราชการคนก่อน ซึ่งกระทำอัตวินิบากกรรม ถึงแก่กรรมในห้องนั่งเล่นชั้นล่างจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ อาคารแรก

นายชัยยา พูนศิริวงศ์ ถูกสบประมาทว่าจะบริหารราชการในฐานะนักปกครองได้ดีอย่างไร เนื่องจากไม่ได้ก้าวมาจากสายปกครองโดยตรงเลย คือไม่ผ่านการเป็นปลัดอำเภอ ปลัดจังหวัด และรองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ท่านมาจากผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เป็นนักสถาปนิก ไม่ใช่นักปกครอง
แต่ชาวเชียงใหม่ และในหมู่ข้าราชการระดับเดียวกันคิดผิดคาด ท่านใช้ความรู้ ความสามารถเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดได้ดีไม่แพ้ผู้ว่าที่มาจากสายตรง หรืออาจจะเก่งกว่าผู้ว่าสายตรงบางคนเสียอีก ความเป็นนักสถาปนิก ทำให้มองเชียงใหม่ออกว่าจะพัฒนาไปทางทิศทางใด ท่านเลือกเมืองเชียงใหม่ ต้องเป็นเมืองมรดกทางวัฒนธรรม ทางประวัติศาสาตร์ โดยอนุรักษ์โบราณสถานให้คงอยู่คู่กับเมืองเชียงใหม่ตลอดไป ท่านจึงหวงแหนสิ่งโบราณล้ำค่าตามวัดต่างๆในเขตคูเมือง ช่วงนั้นกระแสการสร้างโบสถ์วิหารใหม่ที่สวยงาม แข่งกันในหมูเจ้าอาวาส ใครจะระดมหาเงินเก่งกว่ากัน ใครสร้างโบสถ์ หรือวิหารได้ ถือว่ามีผลงานจะได้พิจารณาความดีความชอบเลือนสมณศักดิ์สูงขึ้น เมื่อมีผู้ค้าของเก่าไปเสนอเจ้าอาวาสให้รื้อโบสถ์ วิหารเก่า ที่ทำด้วยไม้สักอายุร้อยสองร้อยปีออก โดยผู้ค้าของเก่าจะเป็นผู้รื้อให้เอง ขอเพียงไม้เก่าทั้งหมด ซึ่งสมัยก่อนการสร้างวิหารไม้จะแกะสลักประดิษฐ์ปติมากรรมสวยงามจัดได้มีราคาสูงเป็นที่ต้องการของนักสะสมบ้านสมัยโราณ พ่อค้าของเก่าร่อใจเจ้าอาวาสด้วยการให้เงินอีกก้อนหนึ่งเพื่อให้ไปสร้างใหม่ เจ้าอาวาสไม่รู้คุณค่าก็ตาโต

ผู้ว่าฯชัยยา ทราบข่าวได้ไปอธิบายคุณค่าของวิหารเก่าแก่ว่าเป็นศิลปะหายาก ควรจะเก็บไว้เป็นมรดกของลูกหลาน ขอร้องเจ้าอาวาสอย่ารื้อให้คำนึงถึงของเก่ามีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ หลายแห่งไปห้ามไว้ทัน ก็มีหลายวัดห้าไม่ทันถูกรื้อไป ที่ห้ามไว้ทันก็จัดสรรงบประมาณไปซ่อมแซมบำรุงรักษา ให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรงโดยให้สำนักงานศิลปากรเขต 8 เชียงใหม่ ช่วยไปดูแล

ที่เป็นไฮไลท์ของผู้ว่าฯชัยยา คือสร้างข่วงประตูท่าแพขึ้นมาใหม่แทนของเก่า โดยทุบประตูท่าแพทิ้ง แล้วสร้างกำแพงเมืองและประตูขึ้นมาใหม่ ทำเอาชาวเชียงใหม่ไม่พอใจ กล่าวหาผู้ว่าทำลายกำแพงเมืองเก่า จะทำให้ ขึดบ้าน ขึดเมือง ต่างพากันออกมาด่าผู้ว่าชัยยา บางคนก็สาบแช่ง แต่ผู้ว่าได้อธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่ากำแพงเก่าที่รื้อไปไม่ใช่ของเก่า เพิ่งสร้างมาเมื่อ 30 ปีก่อนในสมัยหลวงศรีประกาศ เป็นนายกเทศมนตรี ซึ่งรื้อของเก่าออกเพื่อขยายประตูเมืองทุกด้านให้กว้างขึ้น เพื่อรองรับความเจริญของเมือง เมื่อรื้อแล้วหลวงศรีประกาศ ก็สร้างประตูเมืองขึ้นมาใหม่ทั้งสี่ด้าน คนรุ่นต่อมาจึงเข้าใจว่าเป็นประตูเมืองเก่าในสมัยสร้างเมืองใหม่ ผู้ว่าชัยยาบอกกับชาวเชียงใหม่ว่าจะสร้างขึ้นมาใหม่โดยจำลองให้ใกล้เคียงของจริงมากที่สุด เช่นความกว้างความสูงของประตูท่าแพ จะใกล้เคียงของเก่าจริงให้มากที่สุดจะผิดเพี้ยนพี้ยนอย่างมากไม่เกินครึ่งนิ้วเท่านั้น โดยใช้วิธีคำนวนจากรูปประตูเมืองเก่า

ประชาชนเข้าใจบ้าง ไม่ยอมเข้าใจก็มีมาก ผู้ว่าชัยยายอมถูกด่า ท่านบอกว่า เมื่อสร้างเสร็จจะเข้าใจกัน ก็เป็นจริงเมื่อข่วงประตูท่าแพ และประตูเมืองสร้างเสร็จเป็นแลนด์มาร์คที่สวยงาม เป็นที่พอใจประชาชน ท่านบอกว่าที่สร้างขึ้นมานี้มอบให้ประชาชนใช้เป็นแหล่งนันทนาการกลางเมือง ห้ามให้มีการจัดงานแสดงสินค้าบนข่วงประตูท่าแพ ให้ใชในงานรัฐพิธีเท่านั้น พอตอนหลังก็มีการอนุญาตให้ใช้ผิดวัตถุประสงค์มานานกว่าหลายสิบปี

นอกจากนี้ผู้ว่าฯชัยยา ยังเป็นหัวแรงใหญ่สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์โดยระดมนักประวัติศาสตร์ของเชียงใหม่ มาร่วมแสดงความคิดเห็นหลายครั้ง ตอนแรกจะสร้างอนุสาวรีย์พญามังรายองค์เดียวในฐานะผู้สร้างเมืองเชียงใหม่ เมื่อหลายๆความคิดมาพบกันต่างเสนอแนะ บ้างก็ให้สร้างพระองค์เดียว บ้างให้สร้างสามพระองค์ ในที่สุดมีมติ คือพญามังรายเจ้าเมืองเมืองเชียงใหม่ พญางำเมืองเจ้าเมืองพะเยา และพ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัย ทั้งสามเป็นพระสหายกัน ในการร่วมวางแผนสร้างนครเชียงใหม่สร้าง ตอนแรกก็ถกเถียงกันว่าจะตั้งพระบรมนุสาวรีย์ที่ไหนมีให้เลือก 3 แห่ง คือเชิงสะพานนวรัฐหน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัด 2.บริเวนข่วงประตูท่าแพ 3.หน้าอาคารศาลากลางเก่าใกล้กลางเวียง ผู้ว่าฯชัยยา ฟันธงเอง ให้ใช้สถานที่หน้าศาลาเก่าที่ประดิษฐานพระบรมราชานัสาวรีย์ที่เห็นกันในขณะนี้ หลายคนคัดค้านว่าไม่เหมาะสม เนื่องจากขณะนั้นยังไม่ได้รื้อรั้วศาลากลางเก่าออกทำให้ดูเป็นมุมอับ แต่สถาปนิกอย่างท่านมองออก การปรับภูมิทัศน์ให้สวยไม่ยาก ให้เหตุผลว่าตั้งใกล้กลางเวียงเป็นเดชเมืองและจะสง่างามสมพระเกียรติ มีผู้ผ่านไปผ่านมาสามารถแวะสักการะได้ ง่าย

การสร้างอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ผู้ออกแบบคือ นายไข่มุกต์ ชูโต จากกรมศิลปกร แบบกว่าจะออกมาได้ต้องดูแล้วดูอีก เมื่อเป็นที่พอใจผู้ว่าชัยยา ก็ลงมือสร้างเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2526 ไปประกอบพิธีบวงสรวง วันที่ 30 มกราคม 2527 ถือว่าเป็นผลงานประวัติศาสตร์ของผู้ว่าชัยยา โดยตรง
หากฟ้าไม่ส่งผู้ว่าฯชัยยา พูนศิริวงศ์ มาดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองเชียงใหม่ เชื่อว่าวันนี้ไม่มีข่วงประตูท่าแพ ไม่มีอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ไม่มีโบราณสถานต่างๆหลงเหลืออยู่ ในยุคของท่านนั่งเมืองได้เริ่มต้นอย่างจริงจังในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของเชียงใหม่ หัวเมืองของล้านนาที่ใครๆต้องการมาเยือนในครั้งหนึ่งของชีวิต ขอยกย่องประกาศความดีผู้ว่าฯชัยยาที่สร้างสิ่งสำคัญให้เมืองเชียงใหม่ ไว้ ณ ที่นี้ (ภาพประกอบผู้ว่าชัยยาวันทำบุญพิธีเปิดอนุสาวรีย์สามกษัตริย์)

อำนาจ จงยศยิ่ง บันทึก 17 / 6/60

แท็ก คำค้นหา