ผู้ว่าเชียงใหม่กับการใส่เสื้อม่อฮ่อม

ผู้ว่าเชียงใหม่กับการใส่เสื้อม่อฮ่อม
การแต่งกายพื้นเมืองใส่เสื้อม่อฮ่อม ผูกผ้าขาวม้าที่เอว ห้อยดอกมะลิที่คอ ยึดปฏิบัติกันมาตั้งแต่ในสมัย พ.ต.อ.นิรันดร ชัยนาม เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างปี พ.ศ.2503 – 2514
ความเป็นมาประมาณปี พ.ศ.2505 มีอาคันตุกะต่างแดนเป็นแขกของรัฐบาลไทย มาเยือนจังหวัดเชียงใหม่ ทางจังหวัด ได้จัดงานเลี้ยงต้อนรับ แบบขันโตกดินเนอ ตามวัฒนธรรมล้านนาที่รับประทานอาหาร แบบสำรับขันโตก
การเลี้ยงต้อนรับอาคันตุกะครั้งนั้น ทราบว่า นายไกรสีห์ นิมมานเหมินท์ นักประวัติศาสตร์ล้านนา เป็นคหบดีใหญ่ของเชียงใหม่ และเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์คนเมือง ได้เสนอแนะ พ.ต.อ.นิรันดร ว่าการเลี้ยงต้อนรับอาคันตุกะครั้งนี้ น่าจะให้อาคันตุกะประทับใจ ในวัฒนธรรมล้านนา คือการกินขันโตก การแต่งกายพื้นเมือง และการแสดงศิลปวัฒนธรรมล้านนา คือแสดงฟ้อนชุดของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ใช้ในการแสดง
ทั้งนี้ผู้ร่วมงานต้องแต่งกายล้านนาทุกคน จึงสรุปได้ว่า ฝ่ายชายใส่เสื้อม่อฮ่อม ห้อยพวงมาลัยดอกมะลิ และผูกหรือมัดผ้าขาวม้าที่เอว ส่วนฝ่ายหญิงนุ่งผ้าซิ่นผ้าฝ้าย และสวมเสื้อกระบอกเกล้าผมทักดอกเอื้อง โดยให้อาคันตุกะร่วมแต่งกายด้วย ครั้งนั้นทราบว่ามีผู้ร่วมงาน 100 คน บรรยากาศจึงอบอวลด้วยวัฒนธรรมล้านนา
ปรากฏว่างานออกมาดีเป็นที่ประทับใจอาคันตุกะที่มาเยือนทุกคน รวมทั้งชาวเชียงใหม่ ที่อยู่ในงาน หลังจากนั้นเป็นต้นมา อาคันตุกะ และพระราชอาคันตุกะ เดินทางหรือเสด็จมายังจังหวัดเชียงใหม่ ทางจังหวัดเชียงใหม่ จะจัดงานเลี้ยงแบบขันโตกต้อนรับ และการแต่งกายก็เหมือนเดิม
การใส่เสื้อม่อฮ่อมจึงเริ่มตั้งแต่นั้นมามา ทั้งประชาชนและราชการชั้นผู้ใหญ่ นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ จะใส่เสื้อม่อฮ่อมกันในงานเลี้ยงขันโตก ไม่ว่าภาครัฐหรือภาคเอกชน หากจัดงานก็ตาม จนกลายเป็นประเพณี หากไปทานหรืองานเลี้ยงขันโตก ไม่ต้องบอกทุกคนต่างทราบดีต้องแต่งกายพื้นเมือง
ที่นิยมใส่เสื้อม่อฮ้อมกันคืองานประเพณีปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่ วันขบวนแห่ดำหัวผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ทุกคนจะใส่เสื้อม่อฮ่อม สวมพวงมาลัยมะลิ รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ทุกคนที่ผ่านมา ก็ล้วนใส่เสื้อม่อฮ่อมกัน
ถึงในสมัย นายชัยยา พูนศิริวงศ์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างปี 2523 – 2527 ร่วมกับเทศบาลนครเชียงใหม่ นำโดย ร.อ.กนก รัตนัย จนถึงสมัย นายวรกร ตันตรานนท์ มีการรงณรงค์ให้แต่งกายพื้นเมืองทุกวันศุกร์ ได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนที่พร้อมใจกันแต่งกายพื้นเมือง ฝ่ายชายใส่เสื้อม่อฮ่อม ฝ่ายหญิงนุ่งผ้าถุงเสื้อทรงกระบอก ระหว่างนั้นทุกวันศุกร์ถ้าไปสถานที่ราชการ และบริษัทเอกชน โดยเฉพาะธนาคารทุกแห่ง พนักงานจะแต่งกายพื้นเมืองกันพร้อมหน้า เป็นความสวยงามมากไปทั้งเมือง ผู้บันทึกนี้ใส่เสื้อม่อฮ่อมนั่งทำงานที่สำนักงาน มีแขกจากกรุงเทพฯมาพบ พอเห็นทุกคนใส่เสื้อม่อฮ่อม ถามว่าทำไมเสื้อม่อฮ่อมกัน ผู้บันทึกตอบว่าชาวเชียงใหม่ พร้อมใจกันแต่งกายพื้นเมืองทุกวันศุกร์ เพื่อรักษาวัฒนธรรมการแต่งกายพื้นเมือง และอู้กำเมืองด้วย แขกประทับใจบอกว่าในเมื่อเข้ามาอยู่ในบรรยากาศเมืองแห่งล้านนา ก็อยากมีส่วนร่วมด้วยจะทำอย่างไร ผู้บันทึกเลยแนะนำให้ไปซื้อเสื้อม่อฮ่อมที่กาดหลวง มาใส่ แขกไปจริงแล้วใส่มาอวด ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ
ภายหลังนักประวัติศาสตร์ล้านนากลุ่มหนึ่งในปลายสมัยผู้ว่าฯชัยยา ได้พากันวิจัย เรื่องการแต่งกายชาวล้านนาของจริงอย่างไรกันแน่ ในที่สุดต่างลงความเห็นว่าผู้ชายหรือสุภาพบุรุษ การแต่งการชุดม่อฮ่อมไม่น่าจะใช่ เนื่องจากเสื้อม่อฮ่อมเป็นพวกชาวบ้าน คนจน กรรมกร และคนใช้ ใส่กันมากกว่า ไม่ควรใช้เป็นชุดประจำล้านนา แต่ก็มีหลายฝ่ายถกเถียงว่าจะไปเปลี่ยนทำไม ประเพณีใส่เสื้อม่อฮ่อมทำมาดีและสวยงามอยู่แล้ว คือไม่ยอมให้เปลี่ยนท่าเดียว กลุ่มว่าควรจะยกเลิก จึงแนะว่าใส่เสื้อม่อฮ่อมก็ได้ แต่สีเสื้อควรเป็นสีขาว หรือสีเขียว สีแดง สีเหลือ และลายดอกก็ได้ โดยอ้างว่าเป็นเสื้อสีที่คนเชียงใหม่สมัยเก่าใส่เพื่อร่วมงานปอยต่างๆ ส่วนสีเสื้อม่อฮ่อมที่เป็นสีกรม เป็นสีเสื้อของคนสวนหรือของคนใช้ใส่กัน ทำให้ชนชั้นกลาง ชั้นสูงเลิกใส่เสื้อม่อฮ่อมสีกรม ไปใส่เสื้อม่อฮ่อมที่เป็นสี ใช้ผ้าไหม หรือผ้าฝ้ายอย่างดีแทน
อย่างไรก็ตามหลังจากผู้ว่าฯชัยยา ย้ายไปเป็นอธิบีกรมประชาสงเคราะห์ ผู้ว่าฯคนต่อมาตั้งแต่ผู้ว่าฯไพรัตน์ เดชะรินทร์ ผู้ว่าฯชนะศักดิ์ ยุวบูรณ์ ผู้ว่าฯวีระชัย แนวบุญเนียร ก็ยังสวมใส่เสื้อม่อฮ่อมกันอยู่ รวมแล้วไล่ตั้งแต่ผู้ว่า พ.ต.อ.นิรันดร ชัยนาม ผู้ว่าฯวิศิษฐ์ ไชยพร ผู้ว่าฯ ดร.อาษา เมฆสวรรค์ ผู้ว่าฯชลอ ธรรมศิริ ผู้ว่าฯประเทือง สินธิพงษ์ รวม 9 ท่าน ใส่เสื้อม่อฮ่อมออกงานสำคัญๆหรืองานทั่วๆไปมาโดยตลอด ทุกท่านที่ใส่ดูดีทุกคน
หลังจากนั้นตั้งแต่งผู้ว่าพลากร สุวรรณรัฐ และผู้ว่าฯคนอื่นๆ ก็ยังเห็นยังใส่เสื้อม่อฮ่อมในบางโอกาส ต่อมามีการสรุปเสื้อล้านนาประจำเชียงใหม่ ได้สรุปมีการคิดค้นกันและสรุป ชุดเมืองล้านนาสุภาพบุรุษ ก็คือชุดที่เห็นใส่กันวันนี้ หากตัดโดยผ้าไหม จะสวยงาม หากตัดด้วยผ้าฝ้ายก็เข้าท่าดี
เห็นได้ทุกวัน ก็คือผู้ว่าฯปวิณ ชำนิประศาสน์ ท่านสวมใส่แทบจะทุกวัน จนเป็นเอกลักษณ์ไปแล้ว ผู้บันทึกอยากเห็นผู้ว่าฯปวิณ ล่องสวมใส่เสื้อม่อฮ่อมห้อยพวงมาลัยดอกมะลิ แล้วผูกผ้าขาวม้าเหมือนผู้ว่าในอดีตสักครั้ง เชื่อว่าคงเท่ห์ไม่เบาเลย
ภาพที่นำประกอบวันนี้ 4 ภาพ เป็นผู้ว่าฯประเทือง สินธิพงษ์ และคุณนายภิรมณ์ศรี ผู้ว่าฯไพรัตน์ เดชะรินทร์ และคุณนาย รศ.สุภาพ ผู้ว่าฯอร่าม เอี่ยมอรุณ และคุณนายอุษา ผู้ว่าจากเชียงราย และภาพที่สี่ ผู้ว่าฯอุทัย นาคปรีชา ผู้ว่าจากลำปาง ทั้งสองท่านเคยเป็นรองผู้ว่าฯเชียงใหม่มาก่อน ชุดที่ใส่ระหว่างดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าฯเชียงใหม่
อำนาจ จงยศยิ่ง บันทึก 16/6/60