ตั้งเป็นหน้าแรกของคุณ | ADD TO FAVORITES

‘ความปลอดภัย’ ของวัคซีนโควิด-19 ควรอยู่เหนือ ‘การเมือง’

(ภาพจากกองทุนเพื่อการลงทุนโดยตรงแห่งรัสเซีย (RDIF) : วัคซีนโรคโควิด-19 ที่ได้รับการพัฒนาโดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ด้านระบาดวิทยาและจุลชีววิทยากามาเลยา ในกรุงมอสโก เมืองหลวงของรัสเซีย เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2020)

ห้วงเวลานี้ บรรดานักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังเร่งทำงานแข่งกับเวลาเพื่อพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด -19) ให้สำเร็จ ด้วยเหตุนี้ “ความปลอดภัยของวัคซีน” จึงเป็นสิ่งที่ควรยึดถือสูงสุดเสมอตลอดการวิจัยและพัฒนา

จีนยึดมั่นความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในกระบวนการพัฒนาวัคซีน เห็นได้จากการที่บรรดานักวิจัยจีนทำการทดสอบวัคซีนทดลองกับสัตว์หลากหลายชนิด แล้วจึงนำมาทดลองทางคลินิกซึ่งเป็นการทดลองในมนุษย์ เมื่อนักวิจัยได้ผลลัพธ์ที่ส่งสัญญาณดีทั้งในด้านประสิทธิภาพของวัคซีนและด้านความปลอดภัย ในการทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 และ 2 แล้วจึงเผยแพร่ผลการวิจัยดังกล่าวลงในวารสารระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นการแบ่งปันข้อมูลกับประชาคมนานาชาติอย่างเปิดเผย โปร่งใส และแสดงถึงความรับผิดชอบ

เนื่องจากการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 เป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญยิ่งต่อการประเมินความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีน จีนจึงได้เสริมความพยายามด้านต่างๆ พร้อมผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศในวัคซีน 4 รายการของจีนที่ได้เข้าสู่การทดลองทางคลินิกในระยะที่ 3 นี้ โดยการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ของวัคซีนของจีนที่ดำเนินการอยู่ในหลายประเทศล้วนเดินหน้าไปได้อย่างราบรื่น ไม่ว่าจะเป็นภูมิภาคตะวันออกกลาง อเมริกาใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การพัฒนาวัคซีนโรคโควิด-19 ถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่ต้องใช้ความระมัดระวังและมีความซับซ้อน ซึ่งอาจเผชิญกับปัจจัยของความไม่แน่นอนได้ทุกเมื่อ

เมื่อวันที่ 8 ก.ย. ที่ผ่านมา บริษัทแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ได้ระงับการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ทั่วโลกเป็นการชั่วคราว หลังมีผู้ร่วมทดลองรายหนึ่งในที่สหราชอาณาจักรมีอาการเจ็บป่วยที่ไม่สามารถอธิบายได้ ก่อนที่การทดลองทางคลินิกบางรายการจะกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง หลังเสร็จสิ้นการตรวจสอบความปลอดภัย

เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความกังวลต่อประเด็นผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น และถือได้ว่าเป็นสัญญาณเตือนเรื่องของความปลอดภัยของวัคซีน ทว่านักการเมืองตะวันตกบางกลุ่มกลับทำหูทวนลมต่อสัญญาณเตือนครั้งนี้ และยังคงเดินหน้าโยงเรื่องการพัฒนาวัคซีนให้เป็นเรื่องการเมืองโดยไม่สนใจความปลอดภัยแต่อย่างใด

คนกลุ่มนี้ยืนยันหนักแน่น ทั้งยังขีดเส้นเวลาใช้งานวัคซีนเพื่อหาข้อได้เปรียบทางการเมือง นอกจากนั้นยังกดดันเหล่าผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพด้วยการดึงดันให้จ่ายวัคซีนก่อนที่วัคซีนจะพร้อมใช้งานเสียด้วยซ้ำ

สิ่งที่ควรมีบทบาทนำในการกำหนดว่าควรอนุมัติวัคซีนหรือไม่ หรือเมื่อใดนั้น คือหลักวิทยาศาสตร์ มิใช่การเมือง ทางลัดใดๆ ระหว่างการพัฒนาวัคซีน รวมถึงการอะลุ้มอล่วยต่อมาตรฐานความปลอดภัยด้วยเจตนาทางการเมือง ย่อมบ่อนทำลายความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อวัคซีน

ฉะนั้น การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 จึงไม่ควรโอนอ่อนต่อแรงกดดันทางการเมือง แต่ควรยึดมั่นต่อกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และการรับประกันความปลอดภัย ปกป้องสุขภาพของประชาชน และนำมาซึ่งชัยชนะเหนือโรคระบาดโดยเร็ว

(แฟ้มภาพซินหัว : ป้ายหน้าอาคารของบริษัทแอสตราเซนากาในเมืองลูตัน สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2020)
(แฟ้มภาพซินหัว : วัคซีนสำหรับโรคโควิด-19 ของรัสเซีย ซึ่งให้ชื่อว่าสปุตนิก 5 อยู่ระหว่างการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ณ กรุงมอสโก เมืองหลวงของรัสเซีย เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2020)
(แฟ้มภาพซินหัว : นักวิจัยทำงานในห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยควีนสแลนด์ (UQ) นครบริสเบรน ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2020)

ข่าว (สำนักข่าวซินหัว)

แท็ก คำค้นหา