ตั้งเป็นหน้าแรกของคุณ | ADD TO FAVORITES

‘ลิ้นจี่กวางตุ้ง’ ผลไม้พันปีที่จีนกำลังผลักดันสู่ตลาดโลก

หลายปีที่ผ่านมา ขณะที่ผลไม้ไทยหลั่งไหลเข้าตลาดจีน ก็มีผลไม้จีนที่เริ่มบุกตลาดไทยเช่นกัน โดยมี “ลิ้นจี่” เป็นทัพหน้า และเป็นสื่อกลางในความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ.มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ซึ่งเป็นแหล่งลิ้นจี่ที่สำคัญของจีน มีปริมาณผลผลิตและพื้นที่ปลูกลิ้นจี่เกินครึ่งของทั้งประเทศ และมีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของทั่วโลก สถิติจากสำนักการเกษตรและกิจการชนบทของกว่างตงเผยว่า ในปี 2021 กว่างตงมีพื้นที่เพาะปลูกลิ้นจี่ราว 1.64 ล้านไร่ และมีผลผลิต 1,473,100 ตัน.ด้วยเนื้อที่หวานนุ่มและชุ่มฉ่ำ ลิ้นจี่กว่างตงจึงได้รับความนิยมอย่างมาก ซูซื่อ กวีจีนชื่อดังสมัยราชวงศ์ซ่งเคยเขียนกลอนถึงผลไม้ชนิดนี้ว่า “หากได้ลิ้มรสลิ้นจี่ 300 ลูกทุกวัน ข้ายินดีจะอยู่ที่หลิ่งหนาน (กว่างตง) ตลอดไป”

กว่างตงมีประวัติศาสตร์ยาวนานด้านการปลูกลิ้นจี่ เช่น ตำบลเกินจื่อ ในเมืองเม่าหมิง มีต้นลิ้นจี่อายุมากกว่า 500 ปี รวม 39 ต้น และมี 9 ต้น ที่อยู่มานานกว่า 1,300 ปี เปรียบได้กับพิพิธภัณฑ์ต้นลิ้นจี่ที่ยังมีชีวิต.ในอดีต อุปสรรคด้านการขนส่งทำให้ชาวจีนที่อยู่ไกลออกไปยากที่จะลิ้มรสลิ้นจี่กว่างตง แต่เทคโนโลยี กระบวนการขนส่งและอีคอมเมิร์ซที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้ชาวจีนทั่วประเทศสามารถกินลิ้นจี่กว่างตงที่สดใหม่ได้

ลิ้นจี่กว่างตงยังถูกส่งขายในต่างประเทศด้วย โดยสถิติเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ระบุว่าจีนส่งออกลิ้นจี่กวางตุ้งไปยังประเทศและภูมิภาคกว่า 20 แห่ง กว่า 15,000 ตัน

เขตฉงฮว่าในนครกว่างโจว เป็นแหล่งผลิตลิ้นจี่ที่สำคัญ ที่นี่มีพื้นที่เพาะปลูกราว 125,000 ไร่ และคาดว่าปีนี้จะมีผลผลิต 50,000 ตัน โอวหยางเจี้ยนจง ประธานสมาคมลิ้นจี่ในท้องถิ่นระบุว่าฉงฮว่าส่งออกลิ้นจี่พันธุ์กุ้ยเว่ย หรือกุ้ยบี้ ไปยังประเทศไทยปีละกว่า 200 ตัน

กว่างตงส่งเสริมให้ลิ้นจี่บุกตลาดต่างประเทศด้วยการจัดกิจกรรม “กว่างตงชวนทั่วโลกชิมลิ้นจี่” ซึ่งมีการโปรโมตในหลายเมืองทั่วโลก อาทิ แวนคูเวอร์ ดูไบ โซล โตเกียว กัวลาลัมเปอร์ และสิงคโปร์ รวมถึงมีการจัดกิจกรรมอื่นๆ ในสหรัฐฯ และแคนาดา ทั้งยังสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ลิ้นจี่ พร้อมขยายห่วงโซ่อุตสาหกรรมลิ้นจี่ เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรท้องถิ่น.สวนแสดงวัฒนธรรมลิ้นจี่เขตฉงฮว่า เพาะลิ้นจี่ถึง 116 สายพันธุ์ ทั้งสายพันธุ์ที่พบได้ทั่วไปอย่างนั่วหมี่ฉือ (ข้าวเหนียวนุ่ม) กุ้ยเว่ย (ดอกกุ้ยเว่ย) และเฟยจื่อเซี่ยว (สนมยิ้ม) และลิ้นจี่ปิง ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “ลิ้นจี่ชนชั้นสูง” เพราะสนนราคาสูงถึง 600 หยวน (ราว 3,000 บาท) ต่อกิโลกรัม รวมถึงลิ้นจี่สายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมสูงอย่างหลิวซีหง (ลิ้นจี่แม่น้ำหลิวซี) เนื่องจากมีขนาดใหญ่เท่าไข่ไก่และไร้เมล็ด

หลี่กุ้ยฟาง เกษตรกรในฉงฮว่าเล่าว่า ในอดีตผลผลิตจากลิ้นจี่ 1 ต้นมีมูลค่าราว 300 หยวน (ราว 1,500 บาท) เท่านั้น แต่หลังจากเปลี่ยนเป็นลิ้นจี่ไร้เมล็ดแล้ว ตัวเลขนี้พุ่งแตะราว 6,000 หยวน (ราว 30,000 บาท) ซึ่งเขาเองก็ปลูกลิ้นจี่ไร้เมล็ดบนพื้นที่ราว 33 ไร่ และตั้งใจว่าในปีนี้ จะปลูกลิ้นจี่ไร้เมล็ดแทนลิ้นจี่กุ้ยเว่ยและลิ้นจี่นั่วหมี่ฉือที่ปลูกไว้บนที่ดินอีก 91 ไร่

อุตสาหกรรมแปรรูปลิ้นจี่ก็พัฒนาไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน นอกจากจะขายลิ้นจี่อบแห้ง และลิ้นจี่ฟรีซดรายแล้ว เขตฉงฮว่ายังสรรสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อาทิ เหล้าลิ้นจี่ และเครื่องปรุงรสที่ทำจากลิ้นจี่ด้วย ปัจจุบันฉงฮว่ามีกิจการและสหกรณ์แปรรูปลิ้นจี่กว่า 30 แห่ง และมีกำลังการผลิตที่ 15,000 ตันต่อปี.เมื่อเดือนมกราคม กว่างตงจัดทำแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมลิ้นจี่คุณภาพสูง ระยะ 3 ปี (2021-2023) โดยมุ่งสร้างศูนย์อุตสาหกรรมลิ้นจี่ระดับโลก และยกระดับการแปรรูปลิ้นจี่

เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ในงานจัดแสดงลิ้นจี่กว่างตง ในนครกว่างโจว อินทิรา วุฒิสมบูรณ์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกว่างโจว กล่าวว่าไทยมีประวัติศาสตร์การปลูกลิ้นจี่ที่ยาวนานเช่นกัน และมีลิ้นจี่หลายพันธุ์ บางส่วนก็มาจากกว่างตง โดยเราสามารถเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในด้านนี้ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกัน นอกจากนี้ยังมีการจัดเตรียมเมนูขนมหวานแบบไทยๆ จากลิ้นจี่เช่น สาคูลิ้นจี่ราดน้ำกะทิอีกด้วย

(แฟ้มภาพซินหัว : เกษตรกรเก็บลิ้นจี่ในสวนที่เขตฉงฮว่า นครกว่างโจว เมืองเอกของมณฑลกว่างตงทางตอนใต้ของจีน)

ที่มาสำนักข่าว xinhua ในความร่วมมือ สำนักข่าวภาคเหนือ

ติดตามข่าวสารอื่นๆได้ที่website : www.phaknuadaily.com

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์ Email:phaknua56@gmail.com

#ลิ้นจี่กวางตุ้ง#ผลไม้พันปี#กวางตุ้ง#กว่างตงชวนทั่วโลกชิมลิ้นจี่#จีน#สำนักข่าวภาคเหนือ#xinhua

แท็ก คำค้นหา