ตั้งเป็นหน้าแรกของคุณ | ADD TO FAVORITES

งานยี่เป็งเชียงใหม่ 66 แห่สะเปาล้านนา คึกคัก เกตแก้วสะเปาคำ ชนะเลิศการประกวด

  เมื่อ: วันอังคาร, พฤศจิกายน 28th, 2023, หมวด AEC HIGHLIGHTS, วัฒนธรรม, เศรษฐกิจ

จังหวัดเชียงใหม่ จัดงานประเพณียี่เป็งเชียงใหม่ ประจำปี 2566 ประกวดขบวนแห่สะเปาล้านนา สืบสานอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิม ขบวนเกตแก้วสะเปาคำ คว้ารางวัลชนะเลิศปีนี้ไปครอง

ค่ำวันนี้ (27 พ.ย. 66) นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยนางกุสุมาล พงษ์สิทธิถาวร นายกเหล่ากาชาดจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมชมประกวดขบวนแห่สะเปาล้านนา และมอบรางวัล ในงานประเพณียี่เป็งเชียงใหม่ ประจำปี 2566 ซึ่งเทศบาลนครเชียงใหม่ จัดขึ้นเพื่อส่งเสริม อนุรักษ์ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของชุมชนให้ยั่งยืนสืบไป โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ ประชาชน และนักท่องเที่ยวจำนวนมาก รอชมกันอย่างเนืองแน่นริมฝั่งแม่น้ำปิง

โดยในค่ำคืนนี้มีหน่วยงานและชุมชนต่างๆ ประดิษฐ์ตกแต่งสะเปาส่งเข้าประกวดถึง 11 ขบวน ซึ่งขบวนแรกเป็นขบวนของเทศบาลนครเชียงใหม่ ถัดมาเป็นขบวนของสภาวัฒนธรรมอำเภอแม่ริม, ขบวนสะเปาล้านนาป่าแพ่ง, ขบวนสะเปาสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองเชียงใหม่ ตามมาด้วยขบวนสะเปาเกตแก้วสะเปาคำ, ขบวนสะเปาหมื่นเชียงยืนดอกเงินกอง, ขบวนสะเปาสมาคมกลองและศิลปะการแสดงล้านนา, ขบวนสะเปาชุมชนวัดศรีปิงเมือง, ขบวนสะเปาสถาบันศิลปะและการแสดงอันดีอันงาม, ขบวนสะเปาของโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา และปิดท้ายด้วยขบวนสะเปาโรงเรียนขาลสุวรรณอนุสรณ์

สำหรับขบวนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 การประกวดขบวนแห่สะเปาล้านนา ในงานประเพณียี่เป็งเชียงใหม่ ประจำปี 2566 ได้แก่ ขบวนสะเปาเกตแก้วสะเปาคำ ได้รับถ้วยรางวัลและเงินรางวัลมูลค่า 70,000 บาท, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ขบวนสะเปาของโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา ได้รับถ้วยรางวัลและเงินรางวัลมูลค่า 60,000 บาท, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ขบวนสะเปาชุมชนวัดศรีปิงเมือง ได้รับถ้วยรางวัลและเงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาท, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 ได้แก่ ขบวนสะเปาล้านนาป่าแพ่ง ได้รับถ้วยรางวัลและเงินรางวัลมูลค่า 45,000 บาท และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 4 ได้แก่ ขบวนสะเปาโรงเรียนขาลสุวรรณอนุสรณ์ ได้รับถ้วยรางวัลและเงินรางวัลมูลค่า 40,000 บาท

ทั้งนี้ คำว่า “สะเปา” หมายถึงเรือสำเภาในภาษาพื้นเมือง เชื่อกันว่าการล่องสะเปาคือการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ โดยการประดิษฐ์สะเปาของชาวล้านนา จะใช้กาบกล้วย มะละกอ ไม้ไผ่ หรือกระดาษแก้วใสมาตกแต่งและประดับประดาด้วยดอกไม้ หรือใช้กระดาษสีตัดเป็นลวดลายต่างๆ ติดด้านข้างลำสะเปา นอกจากนี้ยังมีสิ่งของอื่นๆ ที่มักใส่ลงไปในสะเปาด้วย อาทิ ข้าวสุก กล้วย อ้อยควั่น ข้าวต้มจิ้ม น้ำตาล เกลือ ยาสูบ หมาก พลู ดอกไม้ ธูป เทียน และอื่นๆ เพราะเชื่อกันว่าผู้ล่วงลับที่ได้อุทิศส่วนกุศลหรือทำทานไปให้ จะนำสิ่งของเหล่านั้นไปใช้ในอีกภพหนึ่งได้



แท็ก คำค้นหา